ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นวัตกรรมการตรวจเชื้อ ‘โควิด-โอมิครอน-ฝีดาษลิง’ ในน้ำเสีย ที่มาจากเครื่องบิน สนามบิน และชุมชน เครื่องมือเฝ้าระวังโรคระบาดและไวรัสกลายพันธุ์ หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน

รายงานจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ชี้แจงว่า คณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานเพื่อการรับมือโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน สั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นตรวจน้ำเสียจากบ้านเรือนที่เข้าสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย 

ขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศ เช่น เบลเยียม แคนาดา ออสเตรีย และออสเตรเลีย ก็มีนโยบายประกาศให้สั่งตรวจ “น้ำเสีย” ของเครื่องบินที่มาจากจีน รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงในอัตราการติดเชื้อ ปริมาณไวรัส และทำการถอดลำดับพันธุกรรมไวรัส เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาด และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสหลังการเปิดประเทศ

ซึ่งประเทศไทยได้ใช้นวัตกรรมตรวจหาน้ำเสียเพื่อหาเชื้อโควิด-19 และฝีดาษลิงในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินเชียงใหม่ มาเป็นระยะเวลา 9 เดือน (มกราคม 2565 - กันยายน 2565) และได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ว่าจะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเที่ยวบินที่มาจากจีนในไตรมาส 2566 นี้ด้วย

โครงการวิจัยดังกล่าวนำร่องจาก วิจัยว่าการตรวจเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชนมีผู้วิจัยคือ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร งานวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจว่า การตรวจวัดเศษซากเชื้อโควิด-19 โอมิครอน และฝีดาษลิงในน้ำเสียโสโครกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ทำได้โดยการตรวจน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ 

ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะ ที่มาจากผู้โดยสารในเที่ยวบิน ทั้งการใช้ห้องน้ำบนเครื่องบิน และห้องน้ำในสนามบินขาเข้า-ขาออก ซึ่งผลการตรวจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะไม่พบเชื้อไวรัส 

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังใช้การตรวจดังกล่าวกับน้ำเสียในชุมชนต่าง ๆ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก และยะลา การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสีย สามารถนำไปประยุกต์เพื่อเฝ้าระวังอีกหลาย ๆ ด้าน แบ่งออกเป็นดังนี้

  1. เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด และแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน กลุ่มอาคาร (คอนโด) และอาคาร (โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร สถานที่ราชการ) 
  2. คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าว ๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการในระดับชุมชน หรือกลุ่มอาคาร
  3. ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนของเมือง
  4. ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรการ
  5. ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ
  6. เฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ
  7. ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อในชุมชน

“ในขณะนี้กำลังพัฒนาเพื่อสามารถตรวจเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ เช่น ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ โดยใช้วิธีการเดียวกันคือ เก็บน้ำเสียมาตรวจไวรัส 4-5 ชนิด” ผศ.ดร.ธนพล กล่าว 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นิยามของประโยคที่ว่า “การเสียชีวิตจากโควิด-19” ของทางการจีน ซึ่งทาง WHO ระบุว่า สถิติอย่างเป็นทางการของจีนสะท้อนภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล หรือตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากรายงาน Why monitor wastewater of flights arriving from China for Covid? มองว่า มาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำเสีย จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่ขาดหายไปจากจีนได้เป็นอย่างดี “การได้รู้ว่า ผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ตัวเลขที่เชื่อถือได้นั้นขาดหายไป”

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวเข้ามายังคงต้องใช้เทคนิค RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรมจากตัวอย่างน้ำเสียถือเป็นการป้องกันเชิงรุกที่สำคัญ 

เพราะเมื่อมีการตรวจวินิจฉัยเชื้อได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ และเฝ้าระวังไวรัสที่จะกลายพันธุ์ได้