ทิศทางปั้นธุรกิจ “Next Wave” | ต้องหทัย กุวานนท์

ทิศทางปั้นธุรกิจ “Next Wave” | ต้องหทัย กุวานนท์

ข่าวการล่มสลายของ FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีอันดับสองของโลก และโดมิโนเอฟเฟกต์ของวงการคริปโต ทำให้กองทุนขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกที่ลงทุนใน FTX อย่าง Temasek, Softbank, และ Sequoia ต่างสูญเงินกันไปรายละกว่าสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐ

เงินระดับสองร้อยล้านเหรียญอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของกองทุน แต่สิ่งที่กำลังส่งผลกระทบในขณะนี้กลับกลายเป็นประเด็นเรื่องของ  “ความเชื่อมั่น” ของผู้ลงทุนในกองทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง LP (Limited Partner) รายใหญ่ในฝั่งองค์กรที่เป็นผู้ลงทุนในกองทุนเหล่านี้ 

 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาหนึ่งในกองทุนใหญ่ของเอเชียที่ลงทุนใน FTX ถึงกับต้องออกแถลงการณ์แจ้งผู้ลงทุนว่า การลงทุนใน FTX มีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีบลอกเชน และบริการทางการเงินแบบไม่ผ่านตัวกลาง โดยไม่ได้ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับตลาดคริปโตโดยตรงแต่อย่างใด  

 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่มักมีนโยบายการร่วมลงทุนกับกองทุนของ VC  เพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านการเงินและเข้าถึงโอกาสในการเป็นพันธมิตรกับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก

 แต่ในปัจจุบัน ด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและตลาดทุนที่ขาดแรงขับเคลื่อนใหม่ๆ ทำให้หลายบริษัทเลือกโฟกัสที่การปั้นธุรกิจใหม่ขึ้นมาเองมากกว่าการร่วมลงทุนผ่านกองทุน สัดส่วนเม็ดเงินลงทุนในกองทุนมีแนวโน้มลดลงมาก

 ข้อมูลจาก CrunchBase ระบุว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เม็ดเงินที่ไหลเข้ากองทุน VC ต่างๆมีมูลค่าลดลงถึง 53% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  

ผลจากการสำรวจของ McKinsey กับ CEO บริษัทชั้นนำพบว่า 80% ของ CEO มองว่า“การปั้นธุรกิจใหม่” คือหนึ่งในห้าสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำในวันนี้ และจำนวนของธุรกิจที่จะปั้นขึ้นมาใหม่ต้องมีจำนวนมากกว่าสิ่งที่เคยทำมาใน 2-5 ปีที่ผ่านมา

 
 

           
 
  ถ้าเจาะข้อมูลลึกลงไปในรายอุตสาหกรรม ธุรกิจ FMCG ต้องการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ด้าน Digital Retail
 ธุรกิจพลังงานโฟกัสกับการปั้นธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน  ธุรกิจโทรคมนาคมเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของดาต้าและการวิเคราะห์ข้อมูล 

ธุรกิจเฮลธ์แคร์และยาต้องการปั้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ส่วนธุรกิจการเงินเน้นการปั้นธุรกิจใหม่ด้านดิจิทัล ที่ทำให้สามารถขยายระบบนิเวศทางการเงิน โดยมีพันธมิตรนอกอุตสาหกรรมมาร่วมขับเคลื่อน 

สำหรับมุมมองของ CEO ในด้านของเทคโนโลยี พบว่า กว่า 50% ของ CEO เชื่อว่า AI และ Machine Learning จะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการปั้นธุรกิจใหม่จากนี้ไป เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีด้าน IoT  

อีกประเด็นสำคัญที่บ่งบอกจากผลสำรวจครั้งนี้ก็คือ แหล่งของเงินลงทุนส่วนใหญ่ที่จะใช้เพื่อการปั้นธุรกิจใหม่ จะเป็นเงินลงทุนของหน่วยธุรกิจภายในองค์กรถึง 38-39%  ในขณะที่เงินลงทุนใน VC จะมีสัดส่วนประมาณ 15%

         ทิศทางการปั้นธุรกิจใหม่ขององค์กรเพื่อตอบคลื่นความท้าทายใหม่ มุ่งไปสู่การสร้างหน่วยงาน Venture Building  ขึ้นมาเอง สิ่งที่วงการ VC และ กองทุนต่างๆจำเป็นต้องทำก็คือ การปรับโครงสร้างและกลยุทธ์เพื่อเอื้อต่อรูปแบบการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ 

เช่น การร่วมลงทุนกับ Venture Builder ภายในองค์กรหรือทำตัวเป็น Venture Builder เสียเองตัวอย่างเช่น Temasek กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของสิงคโปร์ที่ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพขึ้นมาถึง 29 บริษัทภายในระยะเวลาสามปี! 

ทิศทางปั้นธุรกิจ “Next Wave” | ต้องหทัย กุวานนท์
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม