อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

อว. เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก นำร่อง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ต้นแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และ “แม่เมาะโมเดล” สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ ลดปัญหาหมอกควันไฟป่า

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 5/2565 ณ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์

การประชุมครั้งนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอ กลไกเชิงยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Greenhouse Gas Net Zero)

รวมถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมและกําลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และกรอบทิศทางการดำเนินงาน 5 ปี ของ สอวช.

สำหรับกลไกเชิงยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามที่ประเทศไทยโดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง

เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065

สอวช. ได้วางแนวทางข้อริเริ่มในการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

โดยทำเป็นสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และชุมชน ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และพื้นที่เขตอำเภอแม่เมาะ เป็นแม่เมาะโมเดล สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ เพื่อลดปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี อว. เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมให้เห็นภาพการดำเนินงานที่เกี่ยวโยงกับบีซีจีโมเดลได้ชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ของเราเองให้มากขึ้น ต้องมองหาแนวทางอะไรที่เป็นแผนเร่งรัด (Quick Win) เป็นหมัดหนักๆ ที่จะทะลุทะลวงไปสู่เป้าหมายได้

โดยมองถึงแนวทางการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของบริษัทหรือองค์กร (Corporate University) ที่เน้นทำในเรื่องเศรษฐกิจหมนุเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว หาแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเสริมพลังในการขับเคลื่อน

อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ถึงแนวทางการทำงานร่วมกับเครือข่ายในต่างประเทศ ควรต้องร่วมมือกับประเทศใด ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี จีน หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา กัมพูชา ต้องคำนึงถึงโอกาสในการทำงานร่วมกันกับประเทศเหล่านี้เพื่อให้เกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในการดำเนินงาน

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

ดร.เอนก ยังได้กล่าวเสริมว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สอวช. เป็นสองหน่วยงานหลักที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ เครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และงบประมาณ

ต้องทำงานเคียงคู่กันไปและเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับรัฐมนตรี เพื่อให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น และยังให้ข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย (Consortium) ในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือในด้านบีซีจี

โดยทำงานร่วมกับ สกสว. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ที่จะมีบทบาทเข้ามาช่วยกำหนดทิศทางการทำงาน หรือสรรหาคนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจปรับรูปแบบให้มีการสอนน้อยลง

แต่เพิ่มการทำวิจัยที่มีเป้าหมายชัดเจนลงไปมากขึ้น รวมถึงการมองแนวทางดึงนักศึกษาจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) เข้ามาศึกษาในประเทศไทย มีกลไกต่างๆ เข้ามารองรับ และดึงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาด้วย

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

นอกจากนี้ สอวช. ยังได้นำเสนอการขับเคลื่อนนวัตกรรมและกําลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ โดยระบุว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ สอวช.

ได้มุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และวางแผนเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและกำลังคนในการรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในรูปแบบของการตอบโจทย์ความต้องการจริง (demand-driven) ในด้านที่มีศักยภาพ

ประกอบด้วย ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ผ้าไทยและการออกแบบ แฟชั่น และการอนุรักษ์และขับเคลื่อน เทศกาล ประเพณีสู่ระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีโอกาสในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแต่ยังขาดกำลังคน นวัตกรรม และระบบนิเวศเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม

“โลกปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชน สามารถนำเสนอ แสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อาจขาดการกลั่นกรอง ทำให้สารที่ส่งออกไปมีความหลากหลาย

ถ้าเป็นการสื่อสารที่ดีก็จะพาสังคมไปสู่สังคมที่ดี แต่ถ้าไม่ดีก็จะนำไปสู่สังคมที่อ่อนแอลง สอวช. จึงควรจะจัดเวทีพูดคุยกันในแวดวงผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ขึ้นมา

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

เราจำเป็นต้องทำเป็นเชิงก้าวหน้าเพราะสังคมเปลี่ยนไปเร็วมาก ต้องทำให้เกิดเป็นสังคมสร้างสรรค์ให้ได้ ภายใน 3 ปี ผ่านทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมี บพค. คอยให้คำแนะนำ และให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ริเริ่มทำ เพื่อให้เกิดเป็นแนวทางสร้างจิตใจที่ดี (Good Mind), ชุมชนที่ดี (Good Community) และสังคมที่ดี (Good Society)” ดร.เอนก กล่าว

ดร.กิติพงค์ ยังได้นำเสนอ กรอบทิศทางการดำเนินงาน 5 ปี ของ สอวช. โดยระบุว่า สอวช. มุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาเสริมและเร่งให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้สำเร็จ

โดยได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงาน ที่จะขับเคลื่อนภายในปี 2570 ในมิติที่สำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่

1. การผลักดันให้ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการสร้างผู้ประกอบการฐาน นวัตกรรม 1,000 ล้านบาทให้ได้1,000 บริษัท โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อปลดล็อค ศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรมของคนในพื้นที่ ควบคู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ อุตสาหกรรม

อว.เดินหน้า 2 โปรเจ็กต์สิ่งแวดล้อม “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์”และ“แม่เมาะโมเดล”

2. การขยับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก (Social Mobility) 1 ล้านคน ผ่านการใช้กลไก อววน. ช่วยยกระดับรายได้ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พัฒนาผู้ประกอบการฐานราก สร้างหลักประกันโอกาส การเข้าถึงการศึกษาสร้างและยกระดับผู้ประกอบการชุมชน และเกษตรอัจฉริยะ ในห่วงโซ่อุปทาน

3. การมีฐานกำลังคนสมรรถนะสูงเพียงพอรองรับการพัฒนาในอนาคต 20,000 คน/ปี เพื่อดึงดูด และรักษาการลงทุนในประเทศ และพัฒนาการเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย (Lifelong Learning) ตอบโจทย์ โลกอนาคตและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม (Industrial need)

4. การพัฒนาที่ยั่งยืน เร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อการปล่อยก๊าฐเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านรูปแบบของกลุ่มเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมและการศึกษา (Industrial and Academic Consortium)

รวมถึงการพัฒนาแผนที่นำทางการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการ ปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย (Innovation Roadmap for Decarbonization) ปี 2570 เพื่อให้ บริษัทส่งออกร้อยละ 50 มีแผนบรรลุคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ค.ศ. 2065 

5. การปฏิรูประบบ อววน. ที่เน้นการปรับปรุงเชิงโครงสร้าง องค์กร ระบบงบประมาณภาครัฐ ระบบข้อมูล และการวิเคราะห์และประเมินผลนโยบาย อววน. เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการบริหารจัดการ.