เส้นใยกัญชงกับการต่อยอดสู่ชิ้นส่วน “ยานยนต์” และ “อวกาศ”

เส้นใยกัญชงกับการต่อยอดสู่ชิ้นส่วน “ยานยนต์” และ “อวกาศ”

กัญชง “เส้นใยสุดแข็งแรง” นำมาต่อยอดสู่ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องบิน ด้านสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ชี้ อุตสาหกรรมกัญชงโตถึง 2 หมื่นล้านบาท ใน 5 ปี พร้อมผนึก 12 สมาคมเอเชียหนุนกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจไทย

รู้หรือไม่ “อะไหล่รถยนต์” และ “ตัวถังเครื่องบิน” ที่บริษัทรถยนต์ดัง ๆ อาทิ ฟอร์ด (Ford) บีเอ็มดับเบิลยู (BMW) รถสปอร์ตเปิดประทุนของ Bruce Dietzen ที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นทำมาจาก “เส้นใยกัญชง” ผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ที่มีความเหนียว และแข็งแรง คนญี่ปุ่นยกย่องกัญชงว่าเป็น “เส้นใยศักดิ์สิทธิ์” ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้เชือกจากเส้นใยกัญชงปิดล้อมวัดใหญ่ ๆ ด้านนอกศาลเจ้าชินโต เพื่อบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย

ภาพจำของกัญชง (Hemp) สำหรับใครหลายคนคือ สารเสพติดชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการมึนเมา มีฤทธิ์กดประสาทเช่นเดียวกับกัญชา หากแต่แท้จริงแล้ว “กัญชงนั้นไม่เหมือนกับกัญชา” มีความแตกต่างกันอยู่มาก เนื่องจากกัญชงมีสารออกฤทธิ์สำคัญที่ชื่อว่า THC (Tetrahydrocannabinol) อยู่เพียงแค่ 0.1% - 1.0% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ สารสกัดกัญชงที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติด มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทต่ำถึงไม่มีเลย

เส้นใยกัญชงกับการต่อยอดสู่ชิ้นส่วน “ยานยนต์” และ “อวกาศ”

เส้นใยกัญชงที่ได้รับการบีบอัดมาเป็นอะไหล่รถยนต์

นอกจากอุตสาหกรรมอาหารและยาแล้ว “เส้นใยกัญชง” ยังถูกนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทำกระดาษ เนื่องจากเป็นวัสดุน้ำหนักเบาและนุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังมีความเหนียวแน่น ทนทานไม่แพ้ใคร

Takashi Okanuma นายกสมาคมกัญชงแห่งประเทศญี่ปุ่น สัมภาษณ์พิเศษกับกรุงเทพธุรกิจในประเด็นเรื่อง “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรม” และด้าน พรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ชี้ว่า อุตสาหกรรมกัญชงในประเทศไทย ที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ จะสามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 2 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี

  • ทำความรู้กับเส้นใยกัญชงหรือเฮมพ์ 

Takashi Okanuma นายกสมาคมกัญชงแห่งประเทศญี่ปุ่น อธิบายว่า ตนเองมีความสนใจและได้ศึกษาด้านเส้นใยกัญชงมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งกัญชง 1 ต้นมีความสูง 2-4 เมตร โดยกระบวนการเส้นใยแปรรูปที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และตัวถึงเครื่องบินนั้นจะเริ่มต้นที่นำ “ลำต้นกัญชงสด ๆ” มาผ่านเครื่องรีด เพื่อทำให้เป็นเส้น และรีดน้ำออก จนเส้นใยได้ความแห้ง คล้ายกับกระบวนการรีดอ้อย จากนั้นก็นำมาผ่านเครื่องที่ถักทอเส้นใยให้เป็นแผ่นแบน ๆ มีความกว้าง คล้ายกระดาษสาแผ่นใหญ่ และนำไปขึ้นรูปเป็นอะไหล่ด้านข้างของประตูรถยนต์ และก่อเป็นตัวถังเครื่องบิน

เส้นใยกัญชง มีคุณสมบัติทางกลของเส้นใยที่มีความแข็งแรงตามยาวมากถึง 550-1110 MPa และยังเรียงสม่ำเสมอ น้ำหนักเบา ดูดซับความชื้นโดยรอบได้ดี ประกอบกับต้นกัญชงเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ต่อเนื่องประมาณ 3-4 ครั้งต่อปี อีกทั้งกัญชงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และต้องการน้ำในปริมาณที่น้อย จึงให้ผลผลิตที่สูงมาก ลงทุนต่ำ และการสร้างขยะจากการเก็บเกี่ยวหรือแปรรูปที่ต่ำเช่นกัน

เส้นใยกัญชงกับการต่อยอดสู่ชิ้นส่วน “ยานยนต์” และ “อวกาศ”

Lotus Eco Elise

“ในปัจจุบัน ไทยสามารถส่งออกลำต้นกัญชง ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไปยังญี่ปุ่น เพื่อนำไปใช้ในการอุตสาหกรรมเส้นใย เนื่องจาก กัญชงแต่ละสายพันธ์ุนั้นมีความแตกต่างกัน เกษตรกรที่ปลูกกัญชงได้อย่างถูกกฎหมายในแต่ละประเทศก็มีน้อย จึงมองว่า กัญชงของไทยจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่ทำมูลค่าทางตลาดได้สูง และมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะได้เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมเส้นใยจากกัญชง” Takashi กล่าว

  • เส้นใยกัญชงกับอุตสาหกรรมยายนต์ และอากาศยาน

ในพ.ศ.2484 งานวิจัยของ เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ นำเสนอรถต้นแบบที่ใช้เชื้อเพลิงจากกัญชง และพลาสติกเซลลูโลสจากกัญชง วัสดุภายนอกจะประกอบด้วยเส้นใยกัญชง 70% ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ารับแรงกระแทกได้ดีกว่าเหล็กถึง 10 เท่า จากการนำค้อนหินมาทุบตัวถังรถยนต์หลายๆ ครั้ง ซึ่งฟอร์ดยังเชื่อว่ารถพลาสติกปลอดภัยกว่ารถเหล็ก เนื่องจากวัสดุกัญชงนั้นมีน้ำหนักเบา และได้นำเชื้อเพลิงจากกัญชงมาใช้แทนเอทานอลเพื่อลดพลังงานอีกด้วย 

โดย Takashi กล่าวว่า หลังจากฟอร์ดริเริ่มผลิตรถยนต์จากเส้นใยกัญชง ในปีให้หลังมาได้มีนักวิจัยหรือบริษัทรถยนต์หลายรายได้นำเอานวัตกรรมนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น บริษัท BMW ที่ใช้กัญชงในการผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโซลูชันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และ Lotus บริษัทผลิตรถยนต์จากประเทศอังกฤษ ได้นำกัญชงมาทำเป็นแผงควบคุมรถยนต์ ในแนวคิด “Lotus Eco Elise” เป็นต้น 

นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ด้านของ “อุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ” ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งใน พ.ศ. 2557 Derek Kesek ชาวแคนาดา เจ้าของบริษัท Hempearth ผลิตเครื่องบินเล็กจากเส้นใยกัญชงเครื่องแรกของโลก ทำให้เรื่องนี้ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง และหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศยานก็กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการวิจัยและพัฒนากันอย่างจริงจัง 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะที่ Hempearth เอง ก็ได้พัฒนาเจนเนอเรชั่นใหม่ของเครื่องบินเล็กจากเส้นใยกัญชง โดยที่นั่ง และหมอนไปจนถึงผนังเครื่องบิน ทำจากกัญชงทั้งหมด เมื่อจับคู่กับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันกัญชง ก็จะกลายเป็นการผลิตเครื่องบินที่ยั่งยืนโดยปราศจากสารพิษ และเมื่อเทียบกับวัสดุอากาศยานแบบดั้งเดิม เช่น อะลูมิเนียมหรือใยแก้วจะเบากว่า ส่งผลให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงระหว่างการเดินทาง ทำให้เกิดเป็นการลดคาร์บอนภายในอากาศ

ทั้งนี้ ยังนำกัญชงมาใช้ผลิตโดรนเชิงพาณิชย์ และทางการทหาร หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหนจากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี (โดยต้องมีการผลิตทดสอบในหลายๆ ความถี่ เช่น VHF,UHF, L-Band, S-band และX-band เป็นต้น) หรือกระทั่งใช้ลดการแพร่การกระจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน

เส้นใยกัญชงกับการต่อยอดสู่ชิ้นส่วน “ยานยนต์” และ “อวกาศ”

Takashi Okanuma และ พรชัย ปัทมินทร

  • การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกัญชงร่วมกับประเทศในเอเชีย

พรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย (TiHTA) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศปลดล็อกกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ครอบครอง และจัดจำหน่ายได้ ทำให้พืชกัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในหลากมิติ แต่ด้วยพันธกิจของสมาคมที่ต้องการขับเคลื่อนกัญชงเชิงอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจที่สร้างสรรค์และยั่งยืน จึงได้เริ่มความร่วมมือในการศึกษา และพัฒนา คุณประโยชน์ของกัญชงสู่กระบวนการผลิต ต่อยอด และแปรรูป 

ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม Bio composite เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วัสดุก่อสร้าง และกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้าง ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล และอาจสร้างรายได้ป้อนอุตสาหกรรมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี

สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย จึงได้ร่วมกับ 12 สมาคมในอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีความมุ่งหมาย และการบูรณาการระหว่างสมาคมร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การผลิตที่มีมาตรฐาน ในปริมาณและราคาที่บริหารจัดการได้ล่วงหน้า 

รวมถึงการสื่อสารประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ของพืชกัญชงอย่างถูกต้อง ให้สอดคล้องกับแต่ละอุตสาหกรรม และสามารถเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจระหว่างกันของสมาชิกและเครือข่ายเพื่อเชื่อมทุกความเป็นไปได้ ในการทำให้ประเทศไทย เป็นฮับอุตสาหกรรมกัญชงแห่งเอเชีย ผ่านงาน “Asia International Hemp Expo” ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์