'การ์ทเนอร์’ เจาะ 6 เทรนด์ทรงอิทธิพล กำหนดอนาคต ‘คลาวด์’

'การ์ทเนอร์’ เจาะ 6 เทรนด์ทรงอิทธิพล กำหนดอนาคต ‘คลาวด์’

“การ์ทเนอร์” เผยแนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของการนำคลาวด์มาใช้งาน เพราะคลาวด์ไม่ใช่แค่ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีไป แต่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ

KEY

POINTS

  • คลาวด์เปลี่ยนผ่านจากตัวช่วยด้านเทคโนโลยีไปเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ

  • จับตา Cloud Dissatisfaction, AI/Machine Learning (ML), Multicloud, Sustainability, Digital Sovereignty และ Industry Solutions กำหนดอนาคตคลาวด์

  • ในปี 2572 ปริมาณเวิร์กโหลดบนคลาวด์ที่เกี่ยวกับ AI จะเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่า

  • การนำคลาวด์มาใช้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จไปทั้งหมด

ในโลกธุรกิจยุคใหม่ “คลาวด์” เป็นตัวจักรที่ช่วยปลดล็อกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มอบความได้เปรียบทางด้านการแข่งขัน พร้อมนำเสนอแนวทางบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง...

“การ์ทเนอร์” เผยแนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของการนำคลาวด์มาใช้งานช่วง 4 ปี ข้างหน้านี้  ประกอบด้วย Cloud Dissatisfaction, AI/Machine Learning (ML), Multicloud, Sustainability, Digital Sovereignty และ Industry Solutions

โจ โรกัส ผู้อำนวยการฝ่ายให้คำปรึกษา การ์ทเนอร์ กล่าวว่า แนวโน้มเหล่านี้เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของวิธีการที่คลาวด์เปลี่ยนผ่านจากตัวช่วยด้านเทคโนโลยีไปเป็นปัจจัยขับเคลื่อน และความจำเป็นทางธุรกิจสำหรับองค์กรส่วนใหญ่ 

นอกจากจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของคลาวด์ ยังส่งผลให้เกิดวิธีการทำงานใหม่ๆ ที่เป็นดิจิทัลโดยธรรมชาติและสร้างผลกระทบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

แนวโน้มที่ 1: Cloud Dissatisfaction การนำคลาวด์มาใช้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จไปทั้งหมด การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า 25% ขององค์กรจะเจอกับความไม่พึงพอใจ (Dissatisfaction) ของการนำคลาวด์มาใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ

ในปี 2571 จากความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล การนำมาใช้ไม่เหมาะสม ปัญหาจากต้นทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นเพื่อให้ยังคงความสามารถในการแข่งขัน องค์กรต้องมีกลยุทธ์คลาวด์ที่ชัดเจนและมีแผนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

การ์ทเนอร์ระบุว่าองค์กรที่สามารถแก้ไขปัญหาโดยให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์ล่วงหน้า (Upfront Strategic) ได้สำเร็จ ภายในปี 2572 จะพบเหตุการเกิด Cloud Dissatisfaction ลดลง

เวิร์กโหลดจาก AI เพิ่ม 5 เท่า

แนวโน้มที่ 2: ความต้องการเทคโนโลยี AI/ML เพิ่มขึ้น ความต้องการ AI/ML กำลังเพิ่มขึ้นรวดเร็ว โดยผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือ Hyperscaler จะเป็นแกนหลักของการเติบโตนี้ พวกเขาจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยวิธีการจัดสรรทรัพยากรด้านการประมวลผล

โดยฝังความสามารถพื้นฐานเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐานไอที เพื่ออำนวยความสะดวกในการร่วมมือกับทั้งผู้ขายและผู้ใช้ พร้อมใช้ประโยชน์จากข้อมูลจริงและข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetic Data) เพื่อฝึกโมเดล AI

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2572 ครึ่งนึง (50%) ของทรัพยากรประมวลผลคลาวด์จะถูกใช้ในงาน AI เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่น้อยกว่า 10%

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าของปริมาณเวิร์กโหลดบนคลาวด์ที่เกี่ยวกับ AI ในปี 2572 โดยเวลานี้เป็นช่วงที่องค์กรต้องประเมินว่าดาต้าเซ็นเตอร์และกลยุทธ์คลาวด์ของพวกเขาพร้อมรับมือกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการ AI & ML หรือไม่ หลายเคสที่อาจต้องนำ AI ไปยังที่ที่ข้อมูลอยู่เพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้

แนวโน้มที่ 3: Multicloud และ Cross Cloud องค์กรหลายแห่งที่นำสถาปัตยกรรมมัลติคลาวด์มาใช้พบว่าการเชื่อมต่อกับและระหว่างผู้ให้บริการเป็นความท้าทาย การขาดความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างสภาพแวดล้อมทำให้การนำคลาวด์มาใช้ช้าลง

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2572 มากกว่าครึ่ง (50%) ขององค์กรจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังจากการใช้งานมัลติคลาวด์

การ์ทเนอร์แนะนำให้ระบุยูสเคสการใช้งานเฉพาะและวางแผนสำหรับ Distributed Apps และ Distributed Data ที่ใช้งานในองค์กรที่อาจได้ประโยชน์จากการนำโมเดลครอสคลาวด์มาใช้ (Cross-Cloud Deployment Model) ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ทั่วทั้งแพลตฟอร์มคลาวด์ รวมถึงการใช้งานคลาวด์แบบ On-Premise และ Colocation 

\'การ์ทเนอร์’ เจาะ 6 เทรนด์ทรงอิทธิพล กำหนดอนาคต ‘คลาวด์’

ปกป้อง ‘ข้อมูล-โครงสร้างพื้นฐาน’

แนวโน้มที่ 4: Industry Solutions การใช้งานแพลตฟอร์มคลาวด์เฉพาะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้ให้บริการจำนวนมากขึ้นเสนอโซลูชันที่ตอบสนองผลลัพธ์ทางธุรกิจเฉพาะ และช่วยขยายขนาดโครงการดิจิทัล

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2572 เกินกว่าครึ่ง (50%) ขององค์กรจะใช้ Industry Cloud Platforms เพื่อเร่งโครงการทางธุรกิจ 

ทั้งยังแนะนำให้องค์กรนำแพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรมมาวางไว้เป็นกลยุทธ์เพื่อเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์และบริการไอทีให้กว้างขึ้น มากกว่าการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้องค์กรหลีกเลี่ยงหนี้ทางเทคนิค (Technical Debt) สามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ 

แนวโน้มที่ 5: Digital Sovereignty การนำ AI มาใช้ กฎระเบียบความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดขึ้น และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังขับเคลื่อนความต้องการใช้บริการ Sovereign Cloud องค์กรจะถูกกำหนดให้ต้องปกป้องข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน และเวิร์กโหลดสำคัญๆ จากการควบคุมโดยเขตอำนาจศาลจากภายนอกและการเข้าถึงข้อมูลของรัฐบาลต่างประเทศมากขึ้น

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าในปี 2572 เกินกว่า 50% ขององค์กรข้ามประเทศจะมีกลยุทธ์ Digital Sovereign เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่น้อยกว่า 10%

ขณะที่องค์กรปรับกลยุทธ์คลาวด์เป็นเชิงรุกเพื่อตอบสนองข้อกำหนด Digital Sovereignty กลับมีข้อเสนอที่หลากหลายอยู่แล้วที่จะสนับสนุนพวกเขา อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือพวกเขาต้องเข้าใจข้อกำหนดของตนเองอย่างแน่ชัด เพื่อที่จะสามารถเลือกส่วนผสมที่เหมาะสมของโซลูชันในการปกป้องข้อมูลและการดำเนินงานของตนได้อย่างสมบูรณ์

แนวโน้มที่ 6: Sustainability ผู้ให้บริการและผู้ใช้งานคลาวด์มีความรับผิดชอบร่วมกันต่อโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยั่งยืนมากขึ้น สิ่งนี้ได้รับการขับเคลื่อนโดยผู้กำกับดูแล นักลงทุน และความต้องการของสาธารณะสำหรับให้มีความสอดคล้องที่มากขึ้นระหว่างการลงทุนเทคโนโลยีและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากเวิร์กโหลด AI ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น องค์กรจึงยังอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องมีความเข้าใจ วัดผล และจัดการผลกระทบด้านความยั่งยืนของเทคโนโลยีคลาวด์ใหม่ ๆ ให้มากยิ่งขึ้น

การวิจัยของการ์ทเนอร์เผยให้เห็นว่า ในปี 2572 มีเปอร์เซ็นต์ขององค์กรทั่วโลกที่จัดลำดับความสำคัญด้านความยั่งยืนไว้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50%

เพื่อให้ได้มูลค่าที่มากขึ้นจากการลงทุนคลาวด์ องค์กรต้องมองไปไกลกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวและจัดวางกลยุทธ์ความยั่งยืนของตนให้สอดรับกับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ