'ประเทศไทย' กำลังพลาดอะไร เมื่อ 'สตาร์ตอัป' หมดศรัทธา ?

'ประเทศไทย' กำลังพลาดอะไร เมื่อ 'สตาร์ตอัป' หมดศรัทธา ?

ดีป้าเผยดิจิทัลสตาร์ตอัปไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งทุน การขาดที่ปรึกษาเชิงลึก เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ

จากข้อมูลของ Startup Genome ประเทศไทยถูกจัดอันดับระบบนิเวศสตาร์ตอัปอยู่ที่ 54 ของโลก ลดลงจากอันดับ 52 ในปีก่อนหน้า สวนทางกับเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ยังคงไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เวียดนามจะอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า แต่แนวโน้มกลับเติบโตขึ้น ในขณะที่ไทยกำลังตกลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเสียพื้นที่การแข่งขันในระดับภูมิภาคไปอย่างช้า ๆ

สารพัดปัจจัยลบรุมเร้า

วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ภายใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ปัจจุบัน ดิจิทัจสตาร์ตอัปไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งทุน การขาดที่ปรึกษาเชิงลึก เครือข่ายระดับนานาชาติที่จำกัด และกลไกภาครัฐที่ยังไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังไม่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ส่งผลให้ดิจิทัลสตาร์ตอัปไทยขาดโอกาสในการเติบโตและทดลองจริงในประเทศ การพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้น โอกาสของไทยคือ การพัฒนาโปรแกรมรูปแบบใหม่ เช่น Venture Building ที่เชื่อมโยงผู้มีไอเดียธุรกิจกับผู้มีทักษะเทคโนโลยี การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน

“ถึงเวลาหยุดถามว่าทำไมสตาร์ตอัปไทยไม่สตาร์ท แล้วเริ่มถามว่าจะทำยังไงให้สตาร์ตอัปเกิดได้ทุกวัน” 

เขา ชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งจากความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยี และความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากทุกภาคส่วนทำงานส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ 

อีกทั้ง สตาร์ตอัปไทยจะไม่เพียงช่วยยกระดับเศรษฐกิจ แต่จะสร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยีให้กับประเทศในระยะยาว และอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้

นักลงทุนเงินหนาหดตัว

ในภาพรวม ปัญหาหลักที่สตาร์ทอัพไทยเผชิญมีหลายประการ หนึ่งคือแนวโน้มการลงทุนจากนักลงทุนร่วมทุน (VC) ที่ลดลงตามกระแสโลก โดยนักลงทุนเริ่มโฟกัสเฉพาะธุรกิจที่มีรายได้หรือกำไรแล้ว ส่งผลให้กลุ่ม Early Stage Startup ซึ่งยังไม่มีรายได้ชัดเจน ถูกมองข้ามไปโดยปริยาย

อีกทั้ง รูปแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมได้ง่ายนัก เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญคือระบบนิเวศสนับสนุน (Ecosystem) ที่เคยคึกคักในยุคก่อนโควิด เช่น โปรแกรมบ่มเพาะ เร่งการเติบโต และการแข่งขันเชิงนวัตกรรม ต่างหยุดชะงักหายไป โดยเพิ่งเริ่มกลับมาในช่วงหลังจากที่สถานการณ์โลกเริ่มคลี่คลาย 

นอกจากนี้ ปัญหากฎระเบียบที่ล้าหลังก็เป็นอีกข้อจำกัดสำคัญ เช่น ประเด็นการถือหุ้นต่างชาติ การเปิดให้ใช้แพลตฟอร์มด้านเทเลเมดิซีนในช่วงโควิด ซึ่งในตอนแรกไม่สามารถทำได้เพราะผิดกฎหมาย

สิ่งที่ประเทศไทยกำลังพลาดไปนั้น ไม่ได้มีเพียงตัวเลขอันดับตกลง แต่รวมถึงโอกาสสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของประเทศ ทั้งในมิติของการสร้างนวัตกรรมที่แท้จริง การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลักดันตลาดแรงงานแห่งอนาคต และการปั้นคนรุ่นใหม่ให้สามารถสร้างเทคโนโลยีด้วยตนเอง 

“ยังคงอยู่ในวังวนของการเป็นเพียงผู้ผลิตตามคำสั่งซื้อ ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี แม้จะสร้างรายได้จีดีพีจากการส่งออก”

ขณะที่ภาคธุรกิจไทยจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งที่โอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับสินค้าไทยมีอยู่อย่างชัดเจนในทุกอุตสาหกรรม

อัดกลไกสนับสนุนทุกขั้น

เขา กล่าวว่า เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ดีป้าได้ริเริ่มนโยบายใหม่ที่กลับมาสนับสนุนสตาร์ทอัพในระดับ Idea Stage อีกครั้งในรอบ 8 ปี โดยตั้งเป้าหมายเฟ้นหาไอเดียใหม่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ผ่านการให้ทุน 200,000 บาทต่อราย จำนวน 200 รายทั่วประเทศ หวังสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้แจ้งเกิด 

พร้อมกลไกสนับสนุนครอบคลุมทุกระยะ ตั้งแต่ Early Stage, Growth Stage ไปจนถึงการผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศผ่านโครงการ depa Global Launchpad และ Growth Lab รวมถึงการจับมือกับมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศ เพื่อบ่มเพาะและผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้มีศักยภาพแข่งขันในระดับสากล

ไทยได้เปรียบหลายขุม

แม้ภาพรวมจะดูยากลำบาก แต่ประเทศไทยยังมีจุดแข็งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่ถึง 70 ล้านคน ประชากรไทยมีอัตราการใช้งานเทคโนโลยีสูงติดอันดับต้นของเอเชีย โดยเฉพาะด้าน Mobile Banking และ FinTech ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยมีความครอบคลุมและต้นทุนการใช้ชีวิตที่ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค 

ทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางภูมิศาสตร์อาเซียน เชื่อมต่อได้ง่ายกับจีน อินเดีย และกลุ่ม CLMV พร้อมทั้งเริ่มมีการผลักดันนโยบายแรงงานทักษะสูง เช่น Smart Visa หรือการให้สิทธิพิเศษกับ Digital Nomad และ Remote Worker และต้องใช้จุดแข็งของไทยดึงดูดสตาร์ทอัพต่างชาติจากประเทศที่ต้นทุนสูง เช่น สิงคโปร์ ให้ย้ายฐานการดำเนินธุรกิจมาที่ไทย 

โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีล้ำหน้า เช่น Clean Tech, Deep Tech, IndustryTech หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์กับฮาร์ดแวร์ในลักษณะ B2B รวมถึงการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อเปลี่ยนไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการส่งออกบริการดิจิทัล ไม่ใช่เพียงฐานการผลิตแบบเดิม