ผ่าเกมเดือด 'เอไอเอส-ทรู' เฉือนกลยุทธ์ชิงที่ 1 อุตฯโทรคมแสนล้าน

ผ่าเกมเดือด 'เอไอเอส-ทรู' เฉือนกลยุทธ์ชิงที่ 1 อุตฯโทรคมแสนล้าน

ภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกลับมาอยู่ใน “สปอตไลต์” อีกครั้ง หลังตลาดมือถือไทยเหลือผู้เล่นเพียง 2 รายใหญ่ ได้แก่ เอไอเอส และ ทรู ซึ่งล้วนมีแรงหนุนจากทุนใหญ่ทั้ง "กลุ่มกัลฟ์" และ "กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ลุ้นเดิมพันแข่งเดือด แย่งขุมทรัพย์ความถี่ชิงผู้นำ หลัง กสทช.เปิดประมูลคลื่น พ.ค.นี้

KEY

POINTS

  • ‘เอไอเอส-ทรู’ วางหมากเดิมพันอุตฯโทรคมแสนล้าน
  • เชื่อครึ่งปีหลังตลาดแข่งเดือดชิงผู้นำขุมทรัพย์ความถี่
  • สำนักงาน กสทช.กางไทม์ไลน์เปิดประมูลพ.ค.นี้
  • คาดได้เห็นการทุ่มซื้อความถี่ปูทางสู่เทคโนโลยีขั้นสูง
  • จับตาค่ายมือถือโทรคมขยับสู่สมรภูมิเวอร์ช่วลแบงก์
  • เอไอเอส มี 'กัลฟ์' ทุนใหญ่หนุนพร้อมอัดสปีดสู่ธุรกิจใหม่
  • 'ทรู' มีบริษัทแม่ 'เครือซีพี' ได้มือดี ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ คุมบังเหียน

‘เอไอเอส-ทรู’ พลิกเกมสู้ เดิมพันอุตสาหกรรมโทรคมแสนล้าน เชื่อครึ่งปีหลังแข่งเดือด แย่งขุมทรัพย์ความถี่ชิงผู้นำ หลังสำนักงาน กสทช. เปิดประมูลคลื่น พ.ค.นี้ คาดได้เห็นการทุ่มซื้อความถี่ปูทางสู่เทคโนโลยีขั้นสูงเสิร์ฟลูกค้า พร้อมขยับสู่สมรภูมิเวอร์ช่วลแบงก์ จับตา 'เอไอเอส' มี 'กัลฟ์'ทุนใหญ่หนุนพร้อมอัดสปีดสู่ธุรกิจใหม่ 'ดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์' เต็มตัว ขณะที่ 'ทรู' มีบริษัทแม่ 'เครือซีพี' แบ็คใหญ่ ได้มือดี ‘ซิกเว่ เบรกเก้’ คุมบังเหียนโทรคม

จับตาศึกชิงบัลลังก์ผู้นำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมรอบใหม่จำนวน 6 ย่านความถี่ ซึ่งถือเป็นหมากสำคัญของทั้ง “เอไอเอส”  และ “ทรู” ในการขับเคลื่อน 5G ไปอีกขั้นปูทางสู่เทคโนโลยีขั้นสูง กสทช. นำคลื่นความถี่รวมกว่า 450 MHz ออกประมูลครอบคลุมทั้งย่านต่ำ กลาง และสูง ได้แก่ คลื่น 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz รวมทั้งหมด 40 ชุด ความถี่ รวมมูลค่าเริ่มต้นกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ส่งผลให้ศึกเคาะราคาครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่อง "คลื่นความถี่" แต่คือการ "ชิงบัลลังก์ผู้นำตลาด" เพราะทั้ง "เอไอเอส" และ "ทรู" ต่างเตรียมงบและกลยุทธ์อย่างเต็มที่ ฝั่ง "เอไอเอส" มีทุนหนุนจากกลุ่มกัลฟ์พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจการเงินดิจิทัลรวมถึงธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์​ ขณะที่ "ทรู" ได้อดีตซีอีโอดีแทค "ซิกเว่ เบรกเก้" กลับมารับหน้าที่ประธานบอร์ด และซีอีโอเพื่อวางแผนเกมการแข่งขันรอบใหม่
 

ขณะที่ นับถอยหลังอีกไม่ถึงสองเดือน สนามประมูลคลื่นความถี่กลางปีนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยว่า เอไอเอส หรือ ทรู ใครจะครองความได้เปรียบในยุค 5G อย่างแท้จริง ท่ามกลางคำถามถึงความโปร่งใส ยุติธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังต้องการคำตอบจากหน่วยงานกำกับดูแล

เอไอเอสขยับแผนใหญ่สยายปีกธุรกิจ

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส เดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เอไอเอสให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการด้านดิจิทัล ครอบคลุมทั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยี 5G โครงข่ายอินเทอร์เน็ตบ้านไฟเบอร์ออพติค โครงข่ายดาต้า คลาวด์ และ IoT สำหรับลูกค้าองค์กร และบริการด้านความบันเทิงผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปัจจุบันเอไอเอสมีลูกค้ารวมกว่า 50 ล้านราย

ธุรกิจหลักของเอไอเอส ได้แก่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอสมีส่วนแบ่งตลาดด้านรายได้เพิ่มขึ้นจาก 48% ในปี 2566 เป็น 49% ณ สิ้นปี 2567 สำหรับธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หลังการควบรวมกับ 3BB ทำให้เอไอเอส ขึ้นเป็นผู้นำตลาด มีส่วนแบ่งตลาดด้านรายได้ที่ 45%

บริษัทยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดได้ในด้านของภาวะการแข่งขัน แม้จะมีผู้ให้บริการหลักเหลือเพียง 2 ราย แต่ยังถือเป็นการแข่งขันภายใต้ตลาดเสรี ซึ่งการแข่งขันที่ไม่สมเหตุสมผลได้ลดน้อยลง
 

ผ่าเกมเดือด \'เอไอเอส-ทรู\' เฉือนกลยุทธ์ชิงที่ 1 อุตฯโทรคมแสนล้าน

ประมูลคลื่นคือโอกาส-ราคาต้องสมเหตุผล

ส่วนประเด็นการประมูลคลื่น เขากล่าวว่า คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรสำคัญของการดำเนินธุรกิจของบริษัท การประมูลคลื่นความถี่ทุกครั้ง บริษัทถือเป็นโอกาสที่จะประมูลคลื่นความถี่เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจและรักษาความเป็นผู้นำ ซึ่งมั่นใจว่าในการประมูลบริษัทจะพิจารณาเรื่องราคาอย่างสมเหตุสมผล

ขยับธุรกิจสู่ ‘คลาวด์ -ดาต้าเซนเตอร์’ 

ที่ผ่านมา เอไอเอส พยายามขยับธุรกิจไปสู่การให้บริการในอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น นอกเหนือจากบริการมือถืออย่างเดียว โดยเฉพาะการเข้าสู่สนามไอทีเต็มตัวอย่าง “คลาวด์ - ดาต้าเซนเตอร์” ในส่วนของดาต้าเซนเตอร์ เป็นการลงทุนลักษณะเหมือนพื้นที่ให้เช่าทั่วไป เอไอเอส ร่วมกับ กัลฟ์ และ Singtel ภายใต้ชื่อ GSA Data Center โดย เอไอเอส มีความแข็งแกร่งด้านลูกค้าองค์กรในไทย ส่วน Singtel แข็งแกร่งด้านความเป็น International Operator ซึ่งมีความสำคัญกับ Hyper scaler และกัลฟ์มีความแข็งแกร่งด้านกลุ่มลูกค้าภาครัฐ

ส่วนบริการด้านคลาวด์ เอไอเอส ไม่ได้ขายคลาวด์ในรูปแบบ Reseller ทั่วไป แต่เอไอเอสร่วมมือกับ Oracle ในการนำ Oracle Cloud เข้ามา โดยเอไอเอสถือเป็นตัวแทนของ Oracle ในการขายคลาวด์ในประเทศไทย นอกจากนี้ เอไอเอสยังมี CloudX ธุรกิจคลาวด์ของเอไอเอสเองในการขายคลาวด์ให้กับลูกค้า ทั้งนี้ Oracle Cloud จะสามารถให้บริการในไทยได้ช่วงกลางปีนี้ จะช่วยในเรื่องรายได้ที่เติบโตขึ้นจากการขยายธุรกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจาก ธุรกิจดาต้าเซนเตอร์และธุรกิจคลาวด์

ส่วนการเข้าสู่สมรภูมิ เวอร์ช่วลแบงก์ นายสมชัย ตอบคำถามในการประชุมผู้ถือหุ้นล่าสุดไว้ โดยระบุว่า เวอร์ช่วลแบงก์ ถือว่าเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลของบริษัท ไม่ใช่เงินกู้เพียงอย่างเดียว และด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่ เอไอเอสจะมีโอกาสเสนอขายสินค้าและบริการอื่นๆ ให้ลูกค้า เช่น ประกันภัย และบริการทาง การแพทย์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังต้องรอผลการพิจารณาจาก ธปท. 

สำหรับเวอร์ช่วลแบงก์ เอไอเอสร่วมมือกับ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ บริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) รวมเป็น 3 บริษัท

“เอไอเอสเริ่มจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เป็นโมบาย โอเปอเรเตอร์ ต่อมาเราพยายามจะเป็นดิจิทัลไลฟ์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ เพื่อส่งมอบบริการที่เป็นด้านดิจิทัล บริการเสริม เอ็นเทอร์เทนเมนต์ให้แก่ลูกค้ามากขึ้น และครบทุกมิติ ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เอไอเอสวางสถานะเป็น Cognitive Telco หรือองค์กรอัจฉริยะ ซึ่งบริการด้านการเงินถือเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เอไอเอสเชื่อว่ามีศักยภาพเข้าไปทำตลาดได้ เพราะเอไอเอส มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง” นายสมชัย กล่าว

ศุภชัยดึง 'ซิกเว่' นั่งซีอีโอทรู 

ย้อนกลับมาดูดีลใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคมไทย การ "ควบรวมทรู-ดีแทค" ที่วันนี้ดำเนินมาได้ราว 2 ปี ครั้งนั้น "ซิกเว่" ยังคงนั่งเก้าอี้ประธานกลุ่มเทเลนอร์ เป็นผู้ดำเนินการปิดจ็อบการควบรวม จากนั้นชื่อของ “ซิกเว่” ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้ง เมื่อเครือซีพีฯ ประกาศแต่งตั้งอดีตประธานกลุ่มเทเลนอร์ ให้นั่งตำแหน่งเป็นประธานบริหาร (Executive Chairman) ของกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (Charoen Pokphand Group Co., Ltd.) โดยมีผลไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2568

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การเข้ามาของ นายซิกเว่ ในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้เครือซีพี ซึ่งมั่นใจว่าด้วยวิสัยทัศน์ และประสบการณ์ของนายซิกเว่ จะสามารถนำพาเครือซีพีก้าวสู่การเป็น Technology Company ชั้นนำระดับโลก ที่พร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ สังคม และประเทศชาติในทุกมิติ

ทั้งนี้ บทบาท และความรับผิดชอบของนายซิกเว่ ในตำแหน่งสำคัญนี้ จะครอบคลุมถึงการดูแลรับผิดชอบธุรกิจที่เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีโทรคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล เป็นต้น

นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า เครือซีพีมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่กว้างขวางในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารระดับโลกของนายซิกเว่ รวมถึงการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่ด้วยนวัตกรรม และกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นอนาคต โดยตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมานายซิกเว่ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบริหารโครงการระดับโลก และการสร้างพันธมิตรข้ามอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลในหลายประเทศ

ด้าน นายซิกเว่ กล่าวว่า เครือซีพีได้สร้างชื่อเสียงในฐานะผู้นำระดับภูมิภาคด้านการเชื่อมต่อ โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมดิจิทัล และบริการทางการเงินมายาวนานกว่า 20 ปี และรู้สึกเป็นเกียรติที่นายศุภชัยเชิญให้มาร่วมพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมและดิจิทัลในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อผู้บริโภค องค์กร และสังคม

"เครือซีพี เป็นองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผมเชื่อว่าด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับศักยภาพของบุคลากรในเครือซีพี เราจะสามารถผลักดันประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคได้อย่างแน่นอน” 

หวังดันทรูสู่เทคคอมพานีเวิลด์คลาส

จากนั้น ล่าสุดวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา นายศุภชัย ได้ประกาศแต่งตั้งซิกเว่ ให้เข้ารับตำแหน่ง Group CEO ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มทรูฯ อีกตำแหน่ง รับหน้าที่ดูแลบริหารงานขับเคลื่อนด้านยุทธศาสตร์ภาพรวมของบริษัท เพื่อทำให้ ภาพรวมขององค์กรสู่การเป็นเทคคอมปานีระดับโลกโครงสร้างใหม่นี้จะยกระดับความเข้มแข็งของทีมผู้บริหารให้เป็นระดับเวิลด์คลาส

สิ่งที่ต้องจับตามองจากนี้ เมื่อซิกเว่ หวนคืนตลาดโทรคมนาคมไทย เขาจะเข้ามารันวงการอย่างที่เคยทำสำเร็จมาแล้วเหมือนในอดีตได้หรือไม่ การท้าชิงบัลลังก์จากขาใหญ่ตลอดกาลอย่าง ‘เอไอเอส’ จะสร้างแรงกระเพื่อมได้แค่ไหนต้องลุ้นกัน

รอดวลเกม“เวอร์ช่วลแบงก์”

สำหรับ “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หรือ "เวอร์ช่วล แบงก์" หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตไปตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567 เบื้องต้นคาดจะประกาศรายชื่อผู้ได้ไลเซนส์กลางปี 2568 และจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้หลังจากนั้น 1 ปี โดยจะเห็นผู้ให้บริการรายแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจได้กลางปี 2569 ทั้งนี้ หลังปิดการยื่นไลเซนส์อาจแถลงความคืบหน้า โดย ธปท.เคยประเมินว่าผู้ขอใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย และ ณ ตอนนี้ จำนวนที่เหมาะสมก็ไม่เกิน 3 ราย แต่อนาคตต้องดูตามหลักเกณฑ์ที่เผยแพร่ประกาศของกระทรวงการคลัง

โดยจากการประกาศข่าวของบรรดา “บิ๊กทุนใหญ่” ที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้วพบว่ามี “4 บิ๊กกลุ่มทุน” ที่มีโอกาสยื่นขอไลเซนส์แน่นอน ประกอบด้วย 

  • “บมจ.เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ 
  • “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์” ที่มองตลาดนี้มีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำธุรกิจ 
  • “กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบาจากจีน 
  • “กลุ่มทุนบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” (BTS) ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง “บมจ. วีจีไอ” หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามท้าชิงเค้กก้อนดังกล่าว และมาพร้อม “พันธมิตร” ธนาคารเบอร์ 1 ของไทยอย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” (BBL) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “ทรูมันนี่” กล่าวว่า แอสเซนด์ มันนี่ ภายใต้ฐานลูกค้าทรูมันนี่กว่า 34 ล้านคนได้มีการยื่นขอใบอนุญาต จัดตั้งเวอร์ช่วล แบงก์ ซึ่งจุดประสงค์ของธปท.ที่ชัดเจน คือ ต้องการให้ผู้ให้บริการที่ได้รับไลเซนส์ให้บริการในกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน

ทั้งนี้ เป้าหมายของเวอร์ช่วล แบงก์ตรงกับเป้าหมายของทรูมันนี่ที่ให้บริการมาแล้ว 8-9 ปี ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าช่วยทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ตั้งแต่การชำระเงิน การให้สินเชื่อ ประกัน รวมถึงการลงทุน ซึ่งเวอร์ช่วล แบงก์บริษัทก็ต่อยอดจากประสบการณ์จากทรูมันนี่ และแอสเซนด์ มันนี่