ลงทุน AI อย่างไรไม่ให้พัง? ผลสำรวจเผย 5 จุดที่ต้องระวังก่อนทุ่มงบ

สำรวจ 5 จุดที่ธุรกิจควรระวัง ก่อนทุ่มงบลงทุน AI เทคโนโลยีที่ไม่มีการตรวจสอบจากมนุษย์ ไม่มีกรอบนโยบายใช้งานที่ชัดเจน อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านข้อมูลและการละเมิดลิขสิทธิ์
ผลสำรวจของสำนักข่าว CIO พบว่า องค์กรธุรกิจต่างๆ พร้อมที่จะทุ่มเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง 250 ล้านดอลลาร์ให้กับเทคโนโลยี Generative AI แม้ว่าผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ยังไม่ชัดเจนก็ตาม โดยผู้นำองค์กรถึง 67% เชื่อมั่นว่าเอไอจะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับองค์กรภายในอีก 2 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม การเร่งนำเอไอมาใช้พร้อมกับลงทุนมูลค่ามหาศาล อาจนำมาซึ่งผลเสียร้ายแรงทั้งต่อชื่อเสียง การถูกลงโทษปรับ และการสูญเสียความเชื่อมั่นจากลูกค้า กรุงเทพธุรกิจจึงขอนำเสนอประเด็นสำคัญที่องค์กรควรระมัดระวัง ดังนี้
อย่าปล่อยให้เอไอทำงานโดยไม่มีการตรวจสอบจากมนุษย์
แม้องค์กรจะลงทุนเอไอที่มีราคาสูง แต่ก็ไม่ควรวางใจระบบ 100% เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า เอไอสามารถให้ข้อมูลที่ผิดพลาดได้สูงถึง 46% ของเนื้อหาที่สร้างขึ้น เช่น กรณีของเว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี CNET ที่ต้องระงับการเผยแพร่บทความที่เขียนโดยเอไอหลังพบว่าต้องแก้ไขเนื้อหาถึง 41 จาก 77 ชิ้น
ดังนั้น การตรวจสอบความถูกต้องและการมีมนุษย์คอยกำกับดูแลจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเติมก็ตาม
อย่าพึ่งพาเอไอจนละเลยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
การทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับเอไออาจทำให้องค์กรพยายามใช้งานให้คุ้มค่าจนเกินไป โดยใช้ ChatGPT หรือเครื่องมือเอไออื่นๆ เพื่อสร้างเนื้อหาจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เช่น อีเมล บล็อก โพสต์โซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจส่งผลให้ได้เนื้อหาที่ขาดเอกลักษณ์และไม่น่าสนใจ
ตัวอย่างนี้เห็นได้จากกรณีของบริษัทเกม Activision Blizzard ที่ถูกแฟนเกมวิจารณ์อย่างหนักจากการใช้ภาพที่สร้างจากเอไอแทนงานศิลปะที่สร้างโดยมนุษย์ เอไอควรเป็นเพียงเครื่องมือเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ไม่ใช่มาแทนที่ทั้งหมด
ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
ปัญหาสำคัญของการใช้เอไอแบบคลาวด์คือ การไม่สามารถควบคุมได้ว่าข้อมูลที่ป้อนเข้าไปจะถูกนำไปใช้อย่างไร บริษัทผู้สร้างแชตบอตเอไอสาธารณะอย่าง OpenAI และ Google ได้ระบุในข้อตกลงการใช้งานว่า ข้อมูลที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไปในแชตบอตอาจถูกมนุษย์ตรวจสอบหรือนำไปใช้ในการฝึกฝนอัลกอริทึมต่อได้
เช่น กรณีของซัมซุง พนักงานป้อนข้อมูลลงไปใน ChatGPT เพื่อช่วยทำงาน ทำให้เปิดเผยข้อมูลความลับของบริษัทโดยไม่ตั้ง เหตุการณ์เช่นนี้อาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและได้รับบทลงโทษที่รุนแรง
อย่ามองข้ามความเสี่ยงด้านทรัพย์สินทางปัญญา
การลงทุนในระบบเอไอที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น ChatGPT ซึ่งถูกฝึกด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลที่รวบรวมจากอินเทอร์เน็ต รวมถึงข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ ปัจจุบันยังมีคดีความเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้พัฒนาเอไออยู่ในชั้นศาล และมีความเป็นไปได้ว่าธุรกิจที่ใช้เอไอเหล่านี้อาจต้องรับผิดชอบในอนาคตหากเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของพวกเขาถูกละเมิด การไม่ตรวจสอบว่าผลลัพธ์จากเอไอมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือเครื่องหมายการค้าหรือไม่ อาจสร้างปัญหาให้กับธุรกิจในปี 2025
ต้องวางนโยบายการใช้ Generative AI ที่ชัดเจน
การไม่มีกรอบนโยบายที่ชัดเจนในการใช้ Generative AI ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด เนื่องจากการใช้งานเอไอมีความหลากหลายและสร้างโอกาสมากมาย จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด องค์กรควรมีนโยบายที่ระบุอย่างชัดเจนว่าสามารถใช้และไม่สามารถใช้เอไอในกรณีใดบ้าง