เจาะร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรด้วย ‘เอไอ’ เทคช่วยตีความก.ม.

ผมไม่ได้จบนิติศาสตร์ แม้จะมีประสบการณ์พิจารณากฎระเบียบและช่วยร่างข้อบังคับให้หน่วยงานราชการหลายแห่ง ในฐานะกรรมการ แต่ความเข้าใจด้านกฎหมายยังห่างไกลจากมืออาชีพ
ผมไม่ได้จบนิติศาสตร์ แม้จะมีประสบการณ์พิจารณากฎระเบียบและช่วยร่างข้อบังคับให้หน่วยงานราชการหลายแห่งในฐานะกรรมการ แต่ความเข้าใจด้านกฎหมายของผมยังห่างไกลจากมืออาชีพ การปรึกษานักกฎหมาย อัยการ หรือผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นเรื่องจำเป็น
แต่เมื่อ Generative AI เข้ามา การวิเคราะห์กฎระเบียบต่างๆ เริ่มเปลี่ยนโฉมไป ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ด้วยการอัปโหลดเอกสารเข้าระบบแล้วสอบถามประเด็นที่สงสัย ไม่เพียงแค่เรื่องกฎหมาย แต่รวมถึงเอกสารทุกประเภท
NotebookLM เป็นหนึ่งในเครื่องมือเอไอที่ผมใช้ประจำ NotebookLM เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดย Google Labs โดยใช้โมเดลเอไอ Gemini ของ Google เพื่อช่วยผู้ใช้ในการจัดการและทำความเข้าใจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ไฟล์เอกสาร ไฟล์ PDF เว็บไซต์ หรือข้อความที่คัดลอกมา
ความสามารถของ NotebookLM ได้แก่ การสรุปเนื้อหาจากเอกสารที่ซับซ้อน การตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อัปโหลด และการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เช่น การเขียนบทความหรือสคริปต์วิดีโอ นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ “Audio Overviews” ที่สามารถแปลงข้อมูลจากเอกสารให้เป็นพอดแคสต์ด้วยโฮสต์ที่สร้างขึ้นจากเอไอ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างยืดหยุ่น ที่สำคัญเอไอตัวนี้ยังเปิดให้ผู้คนเข้าไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
เอไอไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังเปิดโอกาสให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดในด้านที่ไม่ถนัด เช่น กรณีล่าสุดเรื่องของ “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)" ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม แม้หลายคนอาจยังไม่ได้อ่านร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรฉบับเต็ม
แต่การมีเครื่องมือเอไออย่าง NotebookLM ทำให้ผมสามารถโหลดร่างพ.ร.บ.นี้เข้าไปในโปรแกรม แล้วให้เอไอช่วยสรุปร่างออกมา ซึ่งเอไอก็สรุปออกมาประมาณหนึ่งหน้ากระดาษแล้วเขียนข้อสรุปตอนท้ายว่า
“ร่าง พ.ร.บ. นี้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่สำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการควบคุมและป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจดังกล่าว”
ผมลองถามเอไอต่อว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนเป็นสัดส่วนเท่าไร และถ้าตั้งใจจะเป็นธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่แท้จริงโดยไม่มีเรื่องของกาสิโนจำเป็นต้องออกพ.ร.บ.นี้หรือไม่ซึ่งเอไอตอบออกมาว่า
“โดยประมาณการแล้ว เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนในร่างพ.ร.บ.นี้ มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของทุกมาตรา และร่างพ.ร.บ.นี้ มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมและส่งเสริมธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญ หากไม่มีกาสิโนก็ไม่จำเป็นต้องมีพ.ร.บ.นี้” เมื่อลองถามเจาะลึกลงไปว่า พ.ร.บ.นี้ กำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด ไม่เกิน 10% ใช่ไหม คำตอบที่ผมได้รับจากเอไอคือ
“มาตรา 11 (8): คณะกรรมการนโยบายมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งหมายความว่าสัดส่วนนี้ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวในพ.ร.บ. แต่จะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบาย” และยังระบุถึงมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วสรุปว่า“ไม่ได้มีการระบุสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนเป็น 10% ในพ.ร.บ. อำนาจในการกำหนดสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนเป็นของคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งจะต้องมีการออกประกาศจากคณะกรรมการนโยบายเพื่อกำหนดสัดส่วนที่แน่นอน”
ผมลองถามต่ออีกว่า รายได้สถานประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรจะถูกนำส่งเข้าเป็นรายได้ของรัฐโดยตรงใช่ไหม เอไอก็ได้อ้างอิงถึงมาตรา 24 แล้วให้คำตอบว่า
“รายได้ของสถานบันเทิงครบวงจรจะถูกนำมาใช้ในการดำเนินงานของสำนักงานก่อน เช่น การบริหารจัดการ การกำกับดูแล และการส่งเสริมธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ส่วนที่เหลือจึงจะถูกนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ไม่ได้หมายความว่ารายได้ทั้งหมดจะเข้าเป็นของรัฐโดยตรง”
สุดท้ายผมให้เอไอช่วยให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะมีผลดีกับประเทศมากแค่ไหน หรือมีข้อเสียมากกว่า
เอไอสรุปข้อดีคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการส่งเสริมธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจดังกล่าวจะสร้างรายได้ให้ประเทศจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และสร้างโอกาสการจ้างงานในหลายภาคส่วน
นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และสร้างรายได้ให้รัฐจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วส่วนที่เหลือนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินร่าง พ.ร.บ. นี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการและสำนักงานกำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ
และเอไอสรุปข้อเสียคือ ปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาการพนันและอาชญากรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเยาวชน ถึงแม้จะมีข้อจำกัดด้านอายุในการเข้าใช้บริการกาสิโน และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ถึงแม้จะมีข้อกำหนดควบคุม นอกจากนี้ อาจเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ ความซับซ้อนในการบริหารจัดการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน และค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลที่อาจเป็นภาระต่อประเทศ ยังมีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการมีกาสิโน
อีกทั้งยังสรุปทิ้งท้ายว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และข้อกังวลเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”
ผมยังสั่งให้เอไอทำพอดแคสต์บทสนทนาของผู้พูดที่เป็นเอไอสองคนคุยกันเป็นภาษาอังกฤษเพื่อสรุปเนื้อหาในร่าง พรบ.นี้ ซึ่งเอไอก็สร้างบทสนทนามาให้ยาวถึง 15 นาทีเกี่ยวกับ ร่าง พรบ.นี้ แต่เขาก็เกริ่นนำให้ความสำคัญกับกาสิโนเอไอมองว่าร่าง พรบ.นี้ ทำก็เพื่อเอื้อต่อการเปิดกาสิโน เพียงแต่บอกว่าร่างนี้ไม่ใช่มีเพียงกาสิโน แต่ก็มีสถานบันเทิงอื่นๆ อยู่ในกาสิโนและเนื้อหาส่วนใหญ่ที่สนทนาก็จะกล่าวถึงกาสิโนและการพนัน รวมถึงมาตราต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อกาสิโน
โดยสรุปเอไอเก่งพอควร อ่านร่างกฎหมายอย่างเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ดี ทั้งยังคาดการณ์จุดประสงค์ของร่างพ.ร.บ. ได้ว่า ต้องการที่จะมีกาสิโนที่ถูกกฎหมายมากกว่าจึงออกพ.ร.บ.นี้ เรียกได้ว่าเอไอรู้ทันว่านี่คือ ร่าง พ.ร.บ. เพื่อจะเปิดกาสิโนมากกว่าจะเน้นสถานบันเทิงครบวงจร เพราะถ้าถามเอไอว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ ควรจะตั้งชื่อว่าอะไรจึงจะตรงกับวัตถุประสงค์หลัก เอไอก็ตอบว่า“พระราชบัญญัติการส่งเสริมและกำกับธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (กาสิโน)” หรือ “พระราชบัญญัติธุรกิจสถานบันเทิงและการพนันครบวงจร”
ดูๆ แล้วต่อไปจะออกกฎหมายอะไรมาคงจะหลอกเอไอได้ยากขึ้น และอาจเป็นก้าวสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางกฎหมายของประเทศไทยโดยการใช้เอไอเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ