'ดีอี' นั่งหัวโต๊ะเสริมแกร่งความมั่นคงไซเบอร์ เร่งแผนป้องภัยเคเบิลใต้น้ำ

'ดีอี' นั่งหัวโต๊ะเสริมแกร่งความมั่นคงไซเบอร์ เร่งแผนป้องภัยเคเบิลใต้น้ำ

'ประเสริฐ' วางแนวทางเชิงรุกรับมือภัยคุกคาม ชูเคเบิลใต้น้ำที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เร่งการศึกษานี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 1/2568 ว่าที่ประชุมมีมติที่สำคัญคือ เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ศึกษาผลกระทบจากกรณีเคเบิลใต้น้ำไม่สามารถใช้งานได้ พร้อมเสนอแผนรับมือและแนวทางปรับปรุงต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โดยให้ สกมช. จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจโดยเฉพาะ

\'ดีอี\' นั่งหัวโต๊ะเสริมแกร่งความมั่นคงไซเบอร์ เร่งแผนป้องภัยเคเบิลใต้น้ำ

โดยคณะทำงานฯ ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน หน่วยงานกำกับดูแล และผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure) เพื่อศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมจำลองสถานการณ์หากสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลของประเทศไทยไม่สามารถใช้งานได้

การศึกษานี้จะครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและเศรษฐกิจของประเทศ แนวทางป้องกันความเสียหายและการกู้คืนระบบในกรณีเกิดเหตุการณ์จริง การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการดูแลเคเบิลใต้น้ำ และแนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายสำรอง (Backup Network) เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล และพร้อมผลักดันแนวทางเชิงรุกเพื่อรับมือภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีเคเบิลใต้น้ำที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและการสื่อสารของประเทศไทยซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ การศึกษานี้จะช่วยให้ประเทศไทยมีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์เคเบิลใต้น้ำไม่สามารถใช้งานได้แล้ว รัฐบาลยังมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความมั่นคงและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีสำรองและการกระจายเส้นทางการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชน 

อีกทั้ง รัฐบาลจะมีการผลักดันมาตรการเสริมความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเฝ้าระวังภัยคุกคาม การพัฒนากลไกป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ

\'ดีอี\' นั่งหัวโต๊ะเสริมแกร่งความมั่นคงไซเบอร์ เร่งแผนป้องภัยเคเบิลใต้น้ำ

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการ กมช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความก้าวหน้าของการเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงไซเบอร์ โดยเฉพาะการรับมือภัยคุกคามจากควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่อาจส่งผลต่อระบบการเข้ารหัสข้อมูลในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไซเบอร์ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร และการยกระดับมาตรการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ

\'ดีอี\' นั่งหัวโต๊ะเสริมแกร่งความมั่นคงไซเบอร์ เร่งแผนป้องภัยเคเบิลใต้น้ำ