เอกราช ปัญจวีณิน ชี้ทางรอดธุรกิจโทรคม ต้องปรับตัวสู่ Digital Telco

ผู้นำด้านดิจิทัลทรู มองธุรกิจโทรคมนาคมต้องก้าวข้ามการให้บริการโครงข่ายพื้นฐาน สู่การเป็น Digital Telco ที่ผสานบริการดิจิทัลครบวงจร พร้อมนำเทคโนโลยีเอไอ บล็อกเชน และคลาวด์ มาพลิกโฉมการให้บริการ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่
เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในงานสัมมนา PostToday Thailand Economic Drives 2025 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ความท้าทาย และโอกาส ในปี 2025” ว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Power Technology ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเข้าสู่ยุค “For Real” ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้งานเอไอในภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม
โดยเขายังระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากเอไอแล้ว ยังมีเทคโนโลยีสำคัญอื่นๆ ที่กำลังเปลี่ยนโฉมภาคธุรกิจ อาทิ บล็อกเชนที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่นอกเหนือจากคริปโทเคอร์เรนซี ระบบคลาวด์ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคลาวด์เอไอ แพลตฟอร์มข้อมูลที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร และเทคโนโลยี Edge ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่ราคาถูกลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ยุค Digital Reinvention ที่เทคโนโลยีจะเข้ามาปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการให้บริการ
“ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและดิจิทัล มองว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุค Digital Reinvention ที่เทคโนโลยีเข้ามาสร้างธุรกิจและบริการใหม่ๆ โดยคาดว่า 90% ของสินค้าและบริการใหม่จะเกิดจากเทคโนโลยี ซึ่งในธุรกิจโทรคมนาคมการเข้าถึงเครือข่ายอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ต้องมีความเร็วและความเสถียรในการให้บริการที่สูงขึ้น พร้อมรองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น
ถ้าเราไม่มีความรวดเร็วในวันนี้ เราอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำ คู่แข่งก็จะทำ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ให้บริการต้องพัฒนาบริการดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” เอกราช กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้ให้บริการมีทางเลือก 2 ทาง คือ การให้บริการโครงข่ายที่เน้นความเร็ว เสถียรภาพ และความปลอดภัย หรือการปรับตัวสู่ Digital Telco ที่ให้บริการดิจิทัลแบบครบวงจร
โดยทรูได้เลือกแนวทางที่สอง ด้วยการผสานบริการดิจิทัลเข้ากับโครงข่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการมากกว่าแค่บริการพื้นฐาน ซึ่งการปรับตัวนี้จะอยู่บนพื้นฐานของระบบ Automation และ Open Architecture ที่สามารถเชื่อมต่อกับทุกระบบได้
ในด้านการประยุกต์ใช้เอไอ ทรูได้พัฒนา Integrated AI Platform แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เอไอภายในองค์กรที่ทำงาน 24 ชั่วโมงสำหรับบริหารจัดการเครือข่าย มอนิเตอร์ แจ้งเตือน และคำนวณการใช้พลังงาน โดยมีการกำหนดขอบเขตระหว่างงานที่เอไอทำได้และงานที่ต้องใช้มนุษย์
ส่วนที่สองคือ เอไอสำหรับบริการลูกค้าที่สามารถให้คำแนะนำและมอบโปรโมชันที่เหมาะสมโดยอ้างอิงจากข้อมูลการใช้งาน เช่น การแนะนำแพ็กเกจโรมมิ่งเมื่อลูกค้าเดินทางไปต่างประเทศ และส่วนที่สามคือ เอไอสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่สามารถส่งข้อมูลและสื่อสารกับแพทย์ได้ รวมถึงการพัฒนาเอไอเอเจนต์ (Agentic AI) ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัว
นอกจากนี้ เขายังได้นำเสนอแนวคิด “Empowering Digital Equity” ด้วยการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก คือ การเข้าถึงเทคโนโลยี การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
“เทคโนโลยีเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด การขับเคลื่อนองค์กรและประเทศสู่ยุคดิจิทัลต้องผสานกับปัจจัยอื่นๆ ทั้งบุคลากรและข้อมูล รวมถึงความพร้อมของข้อมูล เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันจะเกิดประโยชน์มหาศาล ภายใต้แพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน”