จับตา! พิรงรอง หยุดทำหน้าที่ กสทช. สะเทือนแผน สตรีมมิงแห่งชาติ - ทีวีดิจิทัล

ลุ้นประชุมบอร์ด 14 ก.พ.นี้ คาด “พิรงรอง” อาจไม่มาเข้าร่วม หลังศาลอาญาฯ ตัดสินคดีแพ้ทรูฯ สั่งจำคุก 2 ปี วงในระบุแม้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่หากไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เสี่ยงถูก ปปช.ร้อง มองเอฟเฟกต์ตกที่ทีวีดิจิทัลหลังใบอนุญาตสิ้นสุดปี 72 สะเทือนแผนแพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.68 ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาคดีระหว่าง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ น.ส.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย โดยศาลฯ มีคำสั่งจำคุก 2 ปี น.ส.พิรงรอง และให้ประกันตัววงเงิน 120,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ยกเหตุมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้ ทรู ดิจิทัล ไอดี บริษัทในกลุ่มทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เสียหาย
เปิดรายละเอียดคำพิพากษา
ในรายละเอียดคำสั่งศาลฯ ระบุว่า การกระทำของ น.ส.พิรงรอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ทั้งนี้ สถานะจำเลยเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งถือว่าเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามกฎหมาย โดยการกระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีการออกหนังสือเตือนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เกี่ยวกับการโฆษณาแทรกในแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี แม้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จะเป็นผู้ให้บริการโอทีที (OTT : Over the Top) ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับ ต้องขออนุญาตจาก กสทช. ถือเป็นการเร่งรัด และผลักดันให้มีหนังสือเตือน จึงอาจถือเป็นการ “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” เพราะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย และเห็นถึงเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ ศาลฯ พิจารณาว่า มีหลักฐานแสดงเจตนา เช่น คำพูดว่า “ตลบหลัง” และ “ล้มยักษ์” บ่งบอกถึงเจตนาทำให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เสียหาย มีเจตนากลั่นแกล้งเข้าข่ายมีการ “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย”
ย้อนไทม์ไลน์คดีประวัติศาสตร์
สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องจาก "ผู้บริโภค" ได้ร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. เมื่อปี 2566 หลังพบว่า บนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน 'ทรู ไอดี’ มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่ง ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอป ทรู ไอดี ได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง
ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ซึ่งมี น.ส.พิรงรอง เป็นประธานอนุกรรมการชุดนี้ ได้พิจารณา และเสนอความเห็นเรื่องดังกล่าว และสำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่า มีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใด หรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสต์ แครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้
แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยัง ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่โจทก์อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ น.ส.พิรงรอง
ในคำร้องของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป อ้างว่า หนังสือดังกล่าวเป็นเหตุให้ตนเองได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจระงับการเผยแพร่รายการต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน และในคำร้องอ้างว่า ทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการโอทีที หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม น.ส.พิรงรอง ยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี ในการรับชมเนื้อหาตามประกาศ “มัสต์ แครี่” และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรี และเป็นธรรมจนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าว ซึ่งมาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ
ประชุมบอร์ด14 ก.พ.อาจไร้ ‘พิรงรอง’
แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า คดีที่เกิดขึ้น ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ และสังคมกำลังจับตามองว่า น.ส.พิรงรอง จะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งการประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 14 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นนัดแรก หลังการตัดสินคดี จึงคาดว่า น.ส.พิรงรอง จะขอหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่เข้าร่วมประชุม
แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า หาก น.ส.พิรงรอง ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ สำนักงาน กสทช.อาจส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การปฏิบัติหน้าที่นี้เข้าข่ายผิดจริยธรรมหรือไม่
ประธาน กสทช.ยอมรับ "หนักใจ"
ด้านนายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เปิดเผยว่า หลังศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษาฯ ไปแล้วนั้น ยอมรับว่า "มีความรู้สึกหนักใจ" เพราะหากมีการพิจารณาวาระที่มีการลงคะแนนเสียง หรือลงมติที่มีคะแนนเท่ากัน 3:3 ประธาน กสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ทำหน้าที่ชี้ขาด และนำไปสู่การลงคะแนน 2 ครั้ง หรือ ดับเบิ้ลโหวต แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจทำให้ถูกจับจ้องจากสังคม
เหมือนกรณีที่ต้องลงคะแนนดับเบิ้ลโหวต รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
อย่างไรก็ตาม การทำงานของบอร์ด กสทช.หากเหลือ 6 คน ก็สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เพราะตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2564 กำหนดให้คณะกรรมการทำงานได้ทุกตำแหน่งทดแทนกัน และกำหนดจำนวนกรรมการขั้นต่ำ 5 คน ก็สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย
งานด้านโทรทัศน์ยังค้างในวาระ
สำหรับงานที่ น.ส.พิรงรอง อยู่ระหว่างการนำเข้าที่ประชุม อาทิ การแก้ไขปรับปรุงเรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพเพื่อให้ทีวีชุมชนจากเดิมที่มีแต่วิทยุ , (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านโอทีที
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา ประกอบด้วย โครงการศึกษาการจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับดูโทรทัศน์ในระดับชาติ ระบบการประเมินรายการโทรทัศน์ในเชิงคุณภาพ (โซเชียล เครดิต)
อย่างไรก็ตาม น.ส.พิรงรอง มีผลงานล่าสุดในการขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ ประกาศที่ผ่านมติที่ประชุม กสทช. แล้วต้องออกหลักเกณฑ์รายละเอียดและนำไปปฏิบัติ คือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยให้ทุนสนับสนุนรายการเด็ก รายการส่งเสริมความหลากหลาย อัตลักษณ์ท้องถิ่น และรายการที่มีศักยภาพร่วมผลิตกับต่างประเทศ
แผน 'สตรีมมิงแห่งชาติ' ส่อแท้ง
สำหรับงานที่ค้างอยู่ข้างต้น ในส่วนโครงการศึกษาการจัดตั้งแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับดูโทรทัศน์ในระดับชาติ ตามที่สมาคมทีวีดิจิตอลแห่งประเทศไทย เสนอ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลศึกษาของสำนักงาน กสทช. โดยมุ่งเน้นการใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้ว มาต่อยอดพัฒนาให้เป็นต้นแบบของ "เนชั่นแนล สตรีมมิง แพลตฟอร์ม" เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการให้บริการ คุ้มค่า และมีความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนก.ย.ปี 2566 ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดทำแผนแม่บทฉบับที่สองร่วม เพิ่มโอกาสเข้าถึงโทรทัศน์ของภาคประชาชน พร้อมมีการทำในส่วนของโครงการดังกล่าวเป็นการจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลสตรีมมิงแห่งชาติ เพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุดกลายเป็นสมบัติส่วนกลาง เป็นสื่อกลางในการรับชมของประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในปี 2572
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์