"ดีอี" คาดเศรษฐกิจดิจิทัลพุ่ง 4.4 ล้านล้าน ขยายตัวกว่า 2 เท่าของจีดีพีปี 67
'กระทรวงดีอี' เผยมี 2 ยักษ์ใหญ่ต่างชาติเตรียมลงทุน AI-ดาต้า เซ็นเตอร์รวมแสนล้านบาท ดันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัว 5.7% โตกว่า GDP ประเทศ 2 เท่าดันมูลค่าทะลุ 4.44 ล้านล้านบาท
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจของ ประเทศตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 ที่พบว่า ปี 2567 เศรษฐกิจดิจิทัลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดย Broad Digital GDP ประมาณการณ์ว่าขยายตัว 5.7% คิดเป็น 2.2 เท่า ของมูลค่าจีดีพีในประเทศที่ขยายตัว 2.6% หรือราว 4.44 ล้านล้านบาท จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ทั้งนี้ มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าวนี้คิดเป็นตัวเลขเติบโตไม่น้อยกว่า 4.4 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบภาครวมทั้งหมดเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมากขึ้น เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถลดราคาและค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ในด้านการค้าต่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการดิจิทัล น่าจะขยายตัว 17.2% คิดเป็น 2.8 เท่า ของการส่งออกสินค้าและบริการโดยรวมที่ขยายตัว 6.1%
รมว.ดีอี กล่าวว่า รัฐบาลก่อนหน้าและรัฐบาลนายกแพทองธาร ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านดิจิทัล รวมทั้งเร่งผลักดันภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้มีการส่งเสริมการลงทุนผ่านนโยบาย Cloud First และ Data Centers ตลอดจนการลงทุนที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัล เชื่อว่าส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างดี ในปี 2567 สูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม กว่า 2 เท่าตัว
ในปี 2568 กลุ่มทุนจากต่างประเทศจำนวน 2 รายจะเข้ามาลงทุน AI กับ ดาต้าเซ็นเตอร์ ร่วมกับภาคเอกชน คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท ดังนั้นในปี 2568 คาดว่า มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลในปีหน้าจะโตไม่ต่ำกว่าปีนี้
ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ คณะกรรมการดีอี ได้สรุปประมาณการเศรษฐกิจดิจิทัลที่สำคัญ ในปี 2567 มีดังนี้ โดยเศรษฐกิจโดยรวม Broad Digital GDP มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีมูลค่า 4.44 ล้านล้านบาท มีการขยายตัว 5.7% จากปี 2566
และคิดเป็นการขยายตัว 2.2 เท่า ของการขยายตัวของ GDP โดยรวมที่ขยายตัว 2.6 % แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโต การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัล
ด้านการลงทุน
การลงทุนด้านดิจิทัลภาคเอกชน มีการขยายตัว 2.8% จากปี 2566 ในขณะที่การลงทุนด้านดิจิทัลภาครัฐขยายตัวที่ 4.5% จากปี 2566 ปัจจัยสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ที่ขยายตัวจากฐานที่ติดลบในปีก่อนหน้า
ด้านการบริโภค
การบริโภคภาคเอกชนในอุตสาหกรรมดิจิทัลขยายตัว 5.6% สูงกว่าการขยายตัวของการบริโภคของประเทศที่เท่ากับ 4.8% สำหรับการบริโภคภาครัฐ ขยายตัว 11.4% จากการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สินค้าดิจิทัลเป็นสินค้าที่มีความต้องารบริโภคในระดับสูงทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
ภาคการค้าและบริการ
ในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการอุตสาหกรรมดิจิทัล ขยายตัว 17.2% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.1% สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 6.1 % จากเดิมที่ขยายตัว 2.1% ในปีที่ผ่านมาในด้านการนำเข้าสินค้าและบริการดิจิทัลขยายตัว9.0% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขยายตัว 3.0% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศ
ขณะที่ อุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการสร้างเม็ดเงินจากเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยยังคงพึ่งพาสินค้าดิจิทัลทั้งที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ตลอดจนสื่อดิจิทัลคอนเทนต์จากต่างประเทศ จึงทำให้เมื่อการส่งออกสินค้าขยายตัวจะมีผลทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ภาคการผลิต
ในปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านดิจิทัลขยายตัว 5.71% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.75% ตามการขยายตัวของการผลิตในทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุด 2 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ คิดเป็น 12.64% และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 10% ตามลำดับ