ตรวจ ‘ความพร้อมดิจิทัล’ ปลดล็อกก้าวใหม่ ‘โลกธุรกิจ’
ตรวจ “ความพร้อมทางดิจิทัล” รับมือยุคธุรกิจแข่งขันสูง สิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร ที่ต้องการคงความสำคัญ ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
KEY
POINTS
- 'ความพร้อมทางดิจิทัล' กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร
-
ทุกองค์กรจำเป็นต้องขับเคลื่อนค่านิยมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยไม่มีข้อยกเว้น
-
ตัวชี้วัดความพร้อมทางดิจิทัลมี '5 มิติ' ที่สำคัญคือ เทคโนโลยี, บุคลากร, โครงสร้าง, ข้อมูล และ ระบบนิเวศ
ยุคธุรกิจแข่งขันสูง “ความพร้อมทางดิจิทัล” กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร ที่ต้องการคงความสำคัญและความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม
คาร์ทิก จันทราเสการ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ManageEngine เปิดมุมมอง โดยการพัฒนาด้านดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขององค์กร ไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงานทุกๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจ การทำงานภายในองค์กร และการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูล การทำระบบอัตโนมัติ การผสานดิจิทัลเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจหลัก และการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องผ่านวิธีการดิจิทัล
จากนี้ทุกองค์กรจำเป็นต้องขับเคลื่อนค่านิยมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยไม่มีข้อยกเว้นอีกต่อไป ระดับความพร้อมทางดิจิทัลเป็นเหมือนกับระดับความพร้อมด้านการเติบโต ไม่ใช่เพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่จำเป็นต้องครอบคลุมทุกภาคส่วนขององค์กร
‘5 ปัจจัย’ ชี้วัดความพร้อมดิจิทัล
สำหรับตัวชี้วัดสำคัญขององค์กรที่มีระดับความพร้อมทางดิจิทัลมีอยู่ 5 มิติที่สำคัญประกอบด้วย
- เทคโนโลยี (Technology): ลงทุนในเทคโนโลยีโดยพิจารณาจากผลลัพธ์ทางธุรกิจเป็นหลัก
- บุคลากร (Talent): สร้างวัฒนธรรมที่พนักงานมีความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลง (Change-Confident Culture)
- โครงสร้าง (Structure): ใช้แนวคิดการจัดการผลิตภัณฑ์ (Product Management Mindset) ในการพัฒนาและบริหารจัดกา
- เทคโนโลยี ข้อมูล (Data): ใช้ข้อมูลในการสร้างมูลค่า (Data-Driven Insights) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก
- ระบบนิเวศ (Ecosystem): พัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
การศึกษาโดยฟอร์เรสเตอร์พบว่า องค์กรที่มีระดับระดับความพร้อมทางดิจิทัลสูง สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เหนือกว่าคู่แข่งในหลายด้าน โดยเฉพาะในแง่ของอัตราการเติบโตของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าองค์กรที่มีระดับความพร้อมต่ำถึง 1.6 เท่า
อีกทางหนึ่งองค์กรที่มีระดับความพร้อมทางดิจิทัลจะช่วยให้สามารถดำเนินงานตามความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกทางดิจิทัลเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของลูกค้าได้ดีขึ้น และทำให้สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวอย่างราบรื่น
ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเชิงลึก โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ เชิงกลยุทธ์ และผลักดันนวัตกรรมสามารถมั่นใจได้ว่าองค์กรจะยังคงความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ยิ่งพร้อม ยิ่งได้ประโยชน์
พบด้วยว่า ระดับความพร้อมทางด้านดิจิทัลยังส่งเสริมถึงความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) องค์กรที่มีความพร้อมจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดหรือความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ความสามารถในการปรับตัวนี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับองค์กร ทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการยกระดับความพร้อมด้านดิจิทัล องค์กรควรมุ่งเน้นการระบุพื้นที่สำคัญของธุรกิจที่ควรได้รับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสูงสุด พร้อมทั้งลดความซับซ้อนในการดำเนินการ
เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์การดำเนินงานหลักทางธุรกิจและระบุกระบวนการและฟังก์ชันที่สามารถได้รับประโยชน์สูงสุด จากนั้นทดสอบโซลูชันดิจิทัลขององค์กรในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ ก่อนที่จะขยายขนาด โดยใช้ช่วงทดลองนี้รวบรวมข้อเสนอแนะ ระบุปัญหา และปรับปรุงแนวทางขององค์กรตามสิ่งที่ได้เรียนรู้
ขณะที่องค์กรพัฒนามากขึ้น ต้องแน่ใจว่าได้ปรับกลยุทธ์และแผนงานตามความเหมาะสม สุดท้ายสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่จับต้องได้จากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลขององค์กร
‘5 มิติ’ ขับเคลื่อนดิจิทัลไทย
สำหรับประเทศไทย นับว่าอยู่ระหว่างการพัฒนาและมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่แม้จะมีความพร้อมพอสมควร องค์กรจำนวนมากยังต้องเผชิญความท้าทายสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการขาดทักษะดิจิทัลและส่วนใหญ่มีเพียงความสามารถพื้นฐานเท่านั้น
นอกจากนี้ มีข้อจำกัดต้นทุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงความท้าทายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การขาดความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการด้านดิจิทัล การขาดเทคโนโลยีที่จำเป็น รวมไปถึงความซับซ้อนในการใช้เครื่องมือดิจิทัล
แม้ว่าหลายองค์กรจะตระหนักว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงลูกค้าได้ แต่ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลยังคงมีอยู่ทั่วไป
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าหลายองค์กรในประเทศไทยจะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีในความพร้อมด้านดิจิทัล แต่การจัดการกับความท้าทายเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุศักยภาพอย่างเต็มที่ในเศรษฐกิจดิจิทัล
เพื่อบรรลุระดับความพร้อมทางดิจิทัลขึ้นสูง ธุรกิจของไทยสามารถมุ่งเน้นไปที่ 5 มิติหลัก
- ประการแรก เทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ต้องการ
- ประการที่สอง ส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถ การปลูกฝังวัฒนธรรมให้เกิดความมั่นใจต่อการเปลี่ยนแปลงจะส่งเสริมให้พนักงานยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
- ประการที่สาม ธุรกิจของไทยควรนำโครงสร้างที่ใช้แนวคิดการบริหารผลิตภัณฑ์ (Product management mindset) มาใช้ในการส่งมอบเทคโนโลยี เพื่อให้การจัดการโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น
- ประการที่สี่ การปลดล็อคศักยภาพของข้อมูลเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากธุรกิจต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงกระบวนการตัดสินใจและขับเคลื่อนกลยุทธ์ในเชิงธุรกิจ
- สุดท้าย การพัฒนาระบบนิเวศที่ส่งเสริมการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก สามารถสร้างผลประโยชน์ตอบแทนร่วมกันและส่งเสริมการเติบโตแบบร่วมมือกัน
ด้วย 5 มิตินี้ธุรกิจไทยจะสามารถยกระดับความเป็นเลิศทางดิจิทัลได้อย่างมีนัยสำคัญ