ครบ 2 ปี จับตาดีลควบรวม 'ทรู-ดีแทค' เอกชน ขอทบทวน'มาตรการเยียวยา'

ครบ 2 ปี จับตาดีลควบรวม 'ทรู-ดีแทค' เอกชน ขอทบทวน'มาตรการเยียวยา'

ทรูส่งจดหมายร้องกสทช.ขอทบทวนบังคับใช้มาตรการเยียวยา หลังได้ไฟเขียวให้ควบรวมกับดีแทคเมื่อกว่า 2 ปีก่อน ยกเหตุผล 'เอไอเอส-3บีบี' ไม่มีข้อกำหนดยิบย่อยทั้งที่รงมกิจการเหมือนกัน บอร์ดถกเครียดหาทางออกไม่ได้ ยันต้องส่งสรุปรายงานให้ชี้ขาดใหม่ 18 ธ.ค.นี้

ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หารือเป็นเวลา 11 ชม. เพื่อพิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และในท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติรับทราบการควบรวมระหว่างสองบริษัท

ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปีกว่าที่ประชุมบอร์ดกสทช.วานนี้ (9 ธ.ค 2567) มีการพิจารณา รายงานการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการเฉพาะกรณีการรวมธุรกิจดีลทรูควบรวมดีแทค และกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี โดยเป็นวาระลับ เนื่องจากอาจมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความลับทางการค้า

การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ (9 ธ.ค.2567) มีวาระที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้คือ วาระที่ 4.23 เรื่อง รายงานการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการเฉพาะกรณีการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)

แหล่งข่าวจากกสทช.ระบุว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากสำนักงานไม่ได้เสนอรายงานการศึกษาดังกล่าวมาให้ที่ประชุมพิจารณา แต่กลับให้ที่ประชุมพิจารณาถึงข้อร้องเรียนของทรูฯในการขอยกเลิกมาตรการเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะหลังควบรวมที่บอร์ดกสทช.กำหนดให้ปฏิบัติภายใน 90 วัน หลังกสทช.อนุมัติควบกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 

กสทช.บางคนมีความเห็นว่า ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และ ธุรกิจบรอดแบนด์ เป็นธุรกิจไม่เหมือนกัน มาตรการหลังควบรวมจะเหมือนกันหรือไม่ จึงขอดูรายงานเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจ แต่สำนักงานไม่ได้นำรายงานดังกล่าวมาให้พิจารณา จึงขอให้นำมาพิจารณาใหม่ในบอร์ดกสทช.วันที่ 18 ธ.ค.2567

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทรูฯ ไม่ได้ขอยกเลิกการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะควบรวมที่กสทช.กำหนด แต่ทรูฯต้องการความเป็นธรรมเรื่องระยะเวลาในการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ขณะที่บรอดแบนด์ของ เอไอเอส มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องขอยกเลิกการกำหนดค่าบริการ ยืนยันว่า ทรูฯ เป็นเด็กดีมาโดยตลอด และการร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าวได้เสนอต่อสำนักงานกสทช.ไปแล้วตั้งแต่ ก.พ. 2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการควบรวมทรูที่มีระยะเวลากำหนด ประกอบด้วย ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 ให้ครบถ้วน

โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอจัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทานข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนดจัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เพื่อทำหน้าที่สอบทานความถูกต้องของข้อมูล ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย และต้นทุนส่วนเพิ่ม ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ ปีละ 4 ครั้ง โดยต้องจัดให้มีที่ปรึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือตลอดระยะเวลาอายุใบอนุญาตสิ้นสุดลงในกรณีที่อายุใบอนุญาตน้อยกว่า 10 ปี

สำหรับเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะของบรอดแบนด์ของเอไอเอสมีกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี 

กำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมการควบรวม

นอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณาข้อกังวล (Point of concern) จำนวน 5 ข้อ และเห็นชอบ เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังนี้

  • การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% 
  • การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ 
  • การคงทางเลือกของผู้บริโภค กำหนดให้สองบริษัทยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี
  • สัญญาการให้บริการ จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ 
  • จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม