Shoppertainment ขุมทรัพย์อินฟลูฯ สะพัดล้านล้านดอลล์เขย่าอีคอมเมิร์ซ

Shoppertainment ขุมทรัพย์อินฟลูฯ สะพัดล้านล้านดอลล์เขย่าอีคอมเมิร์ซ

ผ่าแนวคิด Shoppertainment หนุน ‘อินฟลูเอนเซอร์-ครีเอเตอร์’ ทำเงิน บริษัทวิเคราะห์ประเมิน การสร้างประสบการณ์ความบันเทิงระหว่างการชอปปิง หรือ ช้อปเปอร์เทนเมนท์ เปิดโอกาสธุรกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วเอเชียแปซิฟิก

KEY

POINTS

  • Shoppertainment  จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2568
  • สำหรับประเทศไทยเองเห็นถึงโอกาสการเติบโตมูลค่าสูงถึง 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์
  • ต่อไปมีโอกาสที่ Shoppertainment จะเข้าไปครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ 

เทรนด์ "ช้อปเปอร์เทนเมนท์ (Shoppertainment)" ที่มีการผสมผสานความบันเทิงเข้ากับการชอปปิงออนไลน์กำลังกลายเป็นกระแสที่มาแรงและเปิดโอกาสการทำเงินให้กับทั้งภาคธุรกิจ ผู้ค้ารายย่อย ครีเอเตอร์ รวมถึงอินฟลูเอนเซอร์

ข้อมูลโดย TikTok แพลตฟอร์มวีดิโอสั้นยอดนิยมระบุว่า “Shoppertainment” เป็นเทรนด์ใหม่แห่งการชอปปิงที่เปิดโอกาสครั้งใหญ่ให้กับธุรกิจ

สอดคล้องไปกับงานวิจัยโดยความร่วมมือระหว่าง “TikTok” และ “บีซีจี” ที่ระบุว่าเทรนด์การสร้างประสบการณ์ความบันเทิงในระหว่างการชอปปิงหรือ “Shoppertainment” จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2568

สำหรับประเทศไทยเองเห็นถึงโอกาสการเติบโตมูลค่าสูงถึง 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีเดียวกันดังกล่าว นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างมาก

กินรวบสมรภูมิ ‘อีคอมเมิร์ซ’

ชลธิชา งามกมลเลิศ Head of Client Partnership TikTok ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยการเติบโตที่สำคัญมาจากการที่คนไทยเปิดรับการมาของสิ่งใหม่ๆ อีโคซิสเต็มและเศรษฐกิจครีเอเตอร์มีความพร้อม และที่สอดคล้องกันไปนักการตลาดต่างมองเห็นถึงโอกาสที่มาพร้อมกับเทรนด์เหล่านี้

กล่าวได้ว่า ด้วยองค์ประกอบของอีคอมเมิร์ซและคอมมูนิตี้ครีเอเตอร์ที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเลือกลงทุนของแบรนด์ที่ตอบโจทย์ตามความสนใจของผู้บริโภคชาวไทยที่ชื่นชอบความบันเทิงและอารมณ์ขัน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นตลาดสำคัญในการเติบโต

ที่น่าจับตามองคือ ต่อไปมีโอกาสที่ Shoppertainment จะเข้าไปครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ จากที่ผู้บริโภคจำนวนมากพร้อมมีส่วนร่วมกับการชอปปิงผ่านคอนเทนต์ที่มีความบันเทิงและระบบนิเวศที่แข็งแรง

สำหรับหมวดหมู่สินค้ายอดนิยม ได้แก่ แฟชั่นและเครื่องประดับ ความงามและผลิตภัณฑ์ส่วนตัว อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ในครัวเรือน ซึ่งคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในหมวดหมู่เหล่านี้

ช่องทางทำเงิน ‘ครีเอเตอร์’

ผลสำรวจโดย Statista คาดการณ์ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 11,630 ล้านดอลลาร์ขณะที่ Euromonitor คาดว่า การขายปลีกบนอีคอมเมิร์ซ (Retail E-commerce) ของไทยจะเติบโตเฉลี่ย 15.4%ในช่วงปี 2567-2570

ดังนั้นการตลาดออนไลน์และการสนับสนุนลูกค้าจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซให้เติบโต

ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy – Thailand TikTok เผยว่า ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีครีเอเตอร์มากกว่า 3 ล้านคนที่สร้างรายได้จาก TikTok และมีผู้ขายมากกว่า 2.4 ล้านคน ที่ได้รับการสนับสนุนจากแพลตฟอร์ม

สถิติระบุด้วยว่า แต่ละเดือนมีครีเอเตอร์ไทยใช้ TikTok LIVE กว่า 7 แสนราย กลุ่มคนดังที่เข้ามาไลฟ์มีอยู่กว่า 7,000 ราย ผู้ใช้งานที่เข้ามาชมไลฟ์คนดังมีมากกว่า 20 ล้านบัญชี ขณะที่ 5 คอนเทนต์ไลฟ์ยอดนิยมที่คนไทยชอบดูคือ ดนตรี การเต้นรำ ไลฟ์สไตล์ เกม และการทำอาหาร ส่วนช่วงเวลายอดนิยมคือ 20.00 - 24.00 น.

อุตสาหกรรมครีเอทีฟของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.81% ของจีดีพีของประเทศในปี 

2565 จำนวนบุคลากรที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นถึง 963,549 คน สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมครีเอทีฟที่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต

‘ไลฟ์สตรีม’ กระตุ้นกำลังซื้อ

นอกจาก TikTok ผู้เล่นรายใหญ่ทุกราย ไม่ว่าจะเป็นช้อปปี้ หรือ ลาซาด้า ต่างเข้ามาร่วมวงในสนามนี้ด้วยกันทั้งนั้น โดยหลักๆ ที่โฟกัสอย่างมากคือ “ฟีเจอร์การไลฟ์ขายสินค้า” ที่ทั้ง TikTok และ ช้อปปี้ ให้ความสำคัญอย่างมาก

ช้อปปี้ระบุว่า 77% ของนักช้อป GEN Z เลือกช่องทางชอปปิงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีฟีเจอร์ความบันเทิง รองรับประสบการณ์การชอปปิงที่สนุกสนานและมีส่วนร่วมผ่านไลฟ์สตรีม และวิดีโอสั้นต่างๆ ที่ช่วยให้นักช้อปสามารถติดตามและรับชมครีเอเตอร์คนโปรดได้

ส่วนของลาซาด้า เน้นที่การสร้างความสนุกและมีส่วนร่วมด้วยเกม โดยเชื่อว่า “Gamification” จะเป็นกลยุทธ์ที่มีบทบาทโดดเด่นยิ่งขึ้นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอนาคต

เนื่องจากการผสมผสานความสนุกสนานจากการเล่นเกมเข้ากับความคุ้มค่าจากการสะสมเหรียญผ่านการเช็กอินรายวันและพิชิตภารกิจต่างๆ เปิดโอกาสให้แพลตฟอร์มสามารถสร้าง Engagement ควบคู่ไปกับการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อตอบแทนนักช้อปได้พร้อมๆ กัน

ลาซาด้าระบุว่า ปัจจุบัน พฤติกรรมของนักช้อปมีความหลากหลายมากขึ้น การนำเสนอประสบการณ์ชอปปิงที่แตกต่างและน่าจดจำจึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้นไปด้วย

ยุคทอง ‘ดิจิทัล คอนเทนต์’

ขณะที่ TikTok ร่วมกับเอคเซนเชอร์ (Accenture)เผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยพบว่า การชอปปิงของผู้บริโภคมีพัฒนาการที่สนใจเนื่องจาก “อิทธิพลของคอนเทนต์”

โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการคือ การเพิ่มขึ้นของการพิจารณาคอนเทนต์ที่ไม่ส่งเสริมการขายเพื่อตัดสินใจซื้อ โดยผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 88% ได้รับอิทธิพลจากคอนเทนต์ดังกล่าว

ประการที่สอง การสืบค้นข้อมูลสินค้าและตัดสินใจซื้ออย่างไร้รอยต่อ โดย 97% ค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์และทำการซื้อภายในพื้นที่เดียวกัน

นอกจากนี้ พบการเพิ่มขึ้นของเสรีภาพในการรับชมข้อมูลและการร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์คอมมูนิตี้ โดยมีผู้บริโภคมากกว่า 60% ได้รับอิทธิพลจากการมีส่วนร่วมของพวกเขา

ท่ามกลางยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลารวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนคอนเทนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการตัดสินใจ

ยุคทองของคอนเทนต์เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ และ Shoppertainment จะเป็นเทรนด์ที่มีอิทธิพลได้ในระยะยาวไม่ได้อยู่แค่ระยะสั้นเพียง 1-2 ปี