Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

เจาะวงเสวนา “Secutech Thailand 2024” ยกระดับความปลอดภัยด้วยการนำเอไอมาใช้ภายในเมือง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าหากจะเพิ่มงบการลงทุน

เทคโนโลยี Smart Security กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยภายในเมือง และชุมชน เอไอสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัย ป้องกันภัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นจากคนร้าย หรือภัยจากธรรมชาติ

โดยงานเสวนา “Secutech Thailand 2024” จัดโดย เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต, เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. และ เนชั่นกรุ๊ป ในหัวข้อ “Intelligent Security & Building” ได้คาดการณ์ว่า เอไอจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการรักษาความปลอดภัยในอนาคต แต่แรงงานมนุษย์ก็ยังคงสำคัญ ซึ่งหากพัฒนาเทคโนโลยีแล้วก็ต้องพัฒนาบุคลากรเช่นเดียวกัน 

Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

รัฐ-เอกชน-ครัวเรือน กับ Smart Security

สร้างรัฐ หัตถวงษ์ อุปนายกสมาคมระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย กล่าวว่า กล้องวงจรปิดมีมานานแล้ว หากแต่ได้ถูกนำไปใช้กันแค่พื้นที่สาธารณะ เช่น ห้าง ถนน โรงพยาบาล เพราะมีการบังคับใช้ โดยปัจจุบันกล้องวงจรปิดมีความพิเศษมากขึ้น เพราะนำเอไอมาใช้กับตัวกล้อง และข้อมูลทุกอย่างจะถูกประมวลผลบนคลาวด์ 

ภาคครัวเรือน ติดตั้งระบบความปลอดภัยโดยการใช้เอไอนั้นยังมีน้อยด้วยเหตุผลปัจเจก เช่น อาม่าไม่อยากให้ติดตั้งกล้องเพราะเปลืองค่าไฟ เปลืองอินเทอร์เน็ต และยังไม่อยากให้ลูกหลานรู้ด้วยว่าตนทำอะไรภายในบ้านบ้าง ซึ่งความชะล่าใจเหล่านี้สร้างความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง 

ภาคเอกชน มีมุมมองว่า การติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะภายในอาคารนั้นไม่ค่อยคุ้มทุน จึงติดตั้งแค่กล้องธรรมดาดั้งเดิม บริษัทที่เปิดใหม่มีการสำรวจว่านำเอไอมาใช้กับระบบรักษาความปลอดภัยมากกว่าบริษัทที่เปิดมานาน เพราะสามารถควบคุมเรื่องการรับพนักงานไปพร้อมๆ กับการเลือกเครื่องมือมาใช้งานได้

สำหรับภาครัฐหน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ก็ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถนำเอไอมาลงทุนกับระบบความปลอดภัยได้ 

“ตอนนี้ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะในไทยนั้นมีความพร้อมมาก เพราะถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพียงแค่บุคลากรอาจขาดความเข้าใจว่าเอไอนั้นช่วยรักษาความปลอดภัยได้อย่างไร จึงทำให้งบประมาณด้านซิเคียวริตี้น้อยเช่นเดียวกัน ดั้งนั้น พัฒนาเครื่องมืออย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาคนด้วย

มีคำถามว่าการนำเอไอมาช่วยจำทำให้ รปภ. ตกงานไหม ผมกลับมองว่าอาชีพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ยังคงต้องมี เพราะเอไอช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เรื่องข้อมูล ลดต้นทุนฮาร์ดแวร์ แต่ก็ต้องมี รปภ.เพราะอย่างไรเอไอก็ยังต้องถูกควบคุมโดยมนุษย์ หลังจากนี้คือ ต้องรีสกิลให้ รปภ.เรียนรู้ที่จะใช้เอไอให้เป็นด้วย” สร้างรัฐ แสดงทัศนะ

Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

ด้าน พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ที่ปรึกษา และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาเมืองยะลาไปสู่การเป็นสมาร์ท ซิตี้ ว่า ยะลาได้นำเอไอเข้ามาใช้ระบบความปลอดภัยระดับท้องถิ่นทั้งหมด โดยทำให้มีความเชื่อมต่อกัน

เช่น กล้องวงจรปิดที่เชื่อมกับระบบเอไอ จัดการเรื่องการจราจรบนถนน มีระบบค่อยเตือนหากจะเกิดเรื่องฉุกเฉิน แพลตฟอร์มแต่ละอย่างสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งหมด มีโดรนที่คอยบินสำรวจเพื่อเก็บดาต้าข้อมูลของแต่ละพื้นที่ 

“ยะลาได้นำเอไอมาใช้กับทั้งเมือง เพราะเป็นเมืองที่ไม่เคยสงบ การมีแค่แรงงานของมนุษย์อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งอยากให้ทุกท้องถิ่นได้นำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้เช่นเดียวกัน ไม่อยากให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นก่อนถึงจะสนใจหันมาใช้ เราควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอีกอย่างของความปลอดภัยภายในชุมชนคือ การจัดสรรงบประมาณ ในแต่ละครั้งนั้นได้งบประมาณมาน้อยกว่า 1% ทำให้ระบบความปลอดภัยบางท้องถิ่นยังคงหละหลวม ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องวอนรัฐบาลให้เพิ่มงบประมาณเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน และการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ต่อไปได้”

Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

ความเสี่ยงด้านไซเบอร์

พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทยมีทั้งส่วนที่บังคับใช้ และไม่บังคับใช้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล และธนาคาร

สำหรับภาคบริการอื่นๆ แม้กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จะไม่ได้บังคับใช้โดยตรง แต่เรื่องของความปลอดภัยเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ระบบอัตโนมัติ ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เราทุกคนล้วนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ 

“คนชะล่าใจคิดว่าไม่เกี่ยวกับธุรกิจของตน แต่โดนแรนซัมแวร์เจาะระบบอาคารเพื่อเรียกค่าไถ่แลกกับข้อมูลมันก็จบ ไม่อยากให้มองว่าการเพิ่มความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เป็นการเพิ่ม Cost สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะมันเป็นข้อมูลส่วนตัวของเรา เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อเรา Back Up ข้อมูลไปแล้ว ใครเป็นคนดูแลที่อยู่เบื้องหลัง 

เราอัปโหลดข้อมูลลงบนคลาวด์ เราจะทราบได้อย่างไรว่าคลาวด์เหล่านั้นมีความปลอดภัยเพียงพอ กล้องวงจรปิดที่มี คนมาติดตั้งไม่ได้อัปเดตระบบ ไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่าน แบบนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายังปลอดภัยอยู่ การลงทุนด้านซิเคียวริตี้มันจำเป็น อยากให้ตระหนักว่าทุกความสะดวกสบาย ย่อมมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ” พล.อ.ต.อมร กล่าวสรุป 

Smart Security ยกระดับความปลอดภัย ด้วยการใช้ AI ภายในเมือง

ก้าวต่อไปของธุรกิจความปลอดภัย

เอกรัฐ วิภาณุรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักกรรมการ บริษัท รักษาความปลอดภัย ไทยซีคอม จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ซึ่งมีให้เลือกได้หลากหลาย และบางนวัตกรรมเมื่อเลือกใช้แล้วก็มีราคาที่ถูกลงกว่าการใช้ระบบดั้งเดิม

ต่อไปตลาดสินค้า และบริการด้านความปลอดภัยจะมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ใช้ระบบรักษาความปลอดภัยภายในอาคาร หมู่บ้าน คอนโด ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จึงมองว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจอย่างหนึ่ง 

เมื่อเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งธุรกิจไอทีแล้ว ต่อมาคือ กล้องวงจรปิดจะขึ้นมาประมวลผลบนคลาวด์ ก็ทำให้คนสนใจเรื่องความยั่งยืน หรือ ESG มากขึ้น หากใช้ระบบอัจฉริยะก็ทำให้สามารถลดต้นทุน และประหยัดพลังงานบางอย่างไปได้ เช่น ไม่ต้องสร้างห้องรักษาความปลอดภัย ประหยัดเรื่องการสร้างห้องสำหรับตั้งฮาร์ดแวร์ เป็นต้น

“อยากให้ประเทศไทยสนใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้มันขายได้ คนร้ายพร้อมจ้องเจาะระบบเพื่อแฮคข้อมูลอยู่เสมอ” 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์