ปรับตัวรับสังคมสูงวัย

ปรับตัวรับสังคมสูงวัย

การละเลยไม่สนใจดูแลสุขภาพสมองเป็นการเสียโอกาสมหาศาล

ปัญหาในชีวิตประจำวันสำหรับผู้มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปก็คือเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ โดยเฉพาะข้าวของเครื่องใช้ เช่นแว่นตา โทรศัพท์ กระเป๋า ที่มักหาไม่เจอ เพราะจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหนทั้งๆ ที่เพิ่งใช้ไปเมื่อไม่นานนัก หรือบางครั้งจำไม่ได้ว่าจอดรถไว้ที่ไหนก็มี ฯลฯ 

อาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นในอนาคตหากเราละเลยการบริหารสมองอย่างสม่ำเสมอ จนอาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งใน “Think out of The Box” ก็เคยเขียนถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ เพราะมองเห็นว่าปัญหานี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสังคมไทยที่เริ่มเข้าสู่ยุคสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแล้ว

โดยนิยามของสหประชาชาติระบุว่าประเทศที่เข้าสู่สงคมผู้สูงวัยหรือ Aging Society หมายถึงประเทศที่มีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7%  ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2537 นอกเหนือจากนั้นก็เช่นเกาหลีใต้ในปี 2560 และประเทศไทยในปี 2565

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพของคนสมัยใหม่จะทำให้คนอายุ 65-75 ปียังคงดูคล่องแคล่วไม่แพ้คนอายุ 50 ในอดีต ประชากรในกลุ่มนี้จึงยังคงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและพัฒนาประเทศได้ต่อไปอีกนานหลายปี

แต่ใช่ว่าผู้สูงวัยทุกคนจะมีโอกาสเช่นนั้น เพราะยังมีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดีหรือไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามที่ควรจะเป็น รวมถึงโรคภัยบางอย่างที่หลายคนอาจมองข้าม โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองไม่ว่าจะเป็นความจำเสื่อมหรือสมองเสื่อม

การละเลยไม่สนใจดูแลสุขภาพสมองในกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นการเสียโอกาสมหาศาลในการดึงความรู้จากประชากรกลุ่มนี้ที่สะสบประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ซึ่งประเทศไทยในอีก 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2574 มีการประเมินว่าจำนวนประชากรสูงวัยจะมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรทั้งประเทศ

วิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันจึงหนีไม่พ้นการใช้ชีวิตร่วมกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะครอบครัวแบบไทยๆ ที่เน้นอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ หลายๆ บ้านจึงต้องอยู่ร่วมกันทั้งคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย กับลูก ซึ่งเป็นพ่อแม่รุ่นใหม่ จึงมีหลานๆ ที่อยู่ในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นอยู่พร้อมหน้ากัน

อาการสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้นซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นอาการหลงๆ ลืมๆ อาจทำให้ความสุขโดยรวมของคนในครอบครัวลดลง เพราะผู้สูงวัยในบ้านอาจหงุดหงิดเพราะหาของที่ต้องการไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็นของใช้เช่นแว่นตา นาฬิกา โทรศัพท์ ไปจนถึงทรัพย์สิน เงินทองของมีค่าต่างๆ

เมื่อหาไม่เจอก็มักจะมีอารมณ์ไม่ดีจนอาจไประบายต่อกับคนในครอบครัว หรืออาจกลายเป็นอาการหวาดระแวงว่ามีคนอื่นมาเอาของตัวเองไปก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างย่ำแย่ลงตามไปด้วย ซ้ำร้ายหากเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยไม่มีใครคิดแก้ไขก็อาจทำให้ความดันสูง ปวดหัว ก่อให้เกิดอาการป่วยไข้เพิ่มขึ้น

การเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ยิ่งมีความเข้าใจเขา ก็จะยิ่งทำให้มีความรู้และความเข้าใจในต้นเหตุและหาทางสร้างกิจกรรมที่ทำให้ลดโอกาสจากการเกิดโรคสมองเสื่อมลงได้ด้วย แน่นอนว่าหากจัดการได้ดีจะยิ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับทุกคนในบ้านไปด้วยพร้อมๆ กัน