ความท้าทายในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล

ความท้าทายในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล

การเติบโตของแพลตฟอร์มดิจิทัลช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้เกิดข้อกังวลขึ้นมาว่า กลไกการกำกับดูแลการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว

แพลตฟอร์มเหล่านี้ส่งเสริมให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมและข้ามสังคมที่แตกต่างไปจากในอดีต ทั้งยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกรรมทั้งที่เป็นธุรกรรมส่วนบุคคล ธุรกรรมเชิงพาณิชย์ ธุรกรรมการเงิน ตลอดจนถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ 

แพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมของตนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันอีกด้วย 

แพลตฟอร์มดิจิทัลมีคุณลักษณะเฉพาะหลายประการ เช่น การได้ประโยชน์จากผลของการมีเครือข่ายเพื่อการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้ต่างๆ ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้ทันที ผู้ใช้แพลตฟอร์มสามารถกำหนดเนื้อหาที่จะนำเสนอได้เอง

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคืออาจมีการนำเข้าข้อมูลเท็จ การใช้คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง และการควบคุมประเด็นการถกเถียงที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มให้เป็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งจนกลายเป็นการชักนำความเห็นได้

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีกลไกเพื่อควบคุมเนื้อหาและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

ในด้านการค้า แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อภาคค้าปลีกแบบดั้งเดิมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถนำเสนอความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคที่ธุรกิจแบบเดิมทำไม่ได้ 

นอกจากนี้แล้ว แพลตฟอร์มยังสามารถในการรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภคแล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ทำการตลาดเฉพาะบุคคล จนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลไปในทางที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และการใช้เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันในตลาด จนอาจนำไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาดได้

อีกประเด็นที่มักทำให้เกิดความกังวลคือ การดำเนินงานของแพลตฟอร์มอาจเป็นการขัดขวางการแข่งขัน (Anti-Competitive Practices) ซึ่งมักนำไปสู่การตรวจสอบอำนาจทางการตลาดของแพลตฟอร์มที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง

ความท้าทายในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล

เหมือนที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอีกหลายประเทศ หน่วยงานในประเทศเหล่านี้ได้ตรวจสอบผลกระทบของการครอบงำจากแพลตฟอร์ม (Platform Dominance) ที่มีต่อการแข่งขันและทางเลือกของผู้บริโภค

การดำเนินการของหน่วยงานเหล่านี้ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับการตระหนักรู้และขีดความสามารถในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มให้เท่าทันการการเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถพัฒนากรอบการต่อต้านการผูกขาด (Antitrust Frameworks) ที่เหมาะกับการกำกับดูแลในยุคดิจิทัล 

ประเด็นด้านผลกระทบทางสังคมของแพลตฟอร์มดิจิทัลก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะด้านแลกเปลี่ยนความเห็นในที่พื้นสาธารณะ การส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ และความเป็นไปได้ของการแทรกแซงจากต่างประเทศในการเลือกตั้ง

ประเด็นเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมเกี่ยวกับระดับความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มในการกำกับดูแลเนื้อหา (Content Governance) และการรักษาหลักการ (Integrity) ของการถกเถียงในที่สาธารณะ

ความพยายามด้านกฎระเบียบ เช่น กฎหมายการให้บริการดิจิทัล (Digital Services Act) ที่นำเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรป เป็นตัวอย่างของการดำเนินการเพื่อกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจนของแพลตฟอร์ม ในการจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเพิ่มความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

ความท้าทายในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล

การตอบสนองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลมีหลายรูปแบบ สะท้อนให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างนวัตกรรม การแข่งขันในตลาด และคุณค่าทางสังคม กฎระเบียบคุ้มครองข้อมูลทั่วไปของสหภาพยุโรป (EU's General Data Protection Regulation - GDPR)

ถือเป็นตัวอย่างในการเสริมสร้างการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว ด้วยการกำหนดมาตรฐานระดับสากลในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลโดยแพลตฟอร์มดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เป็นเพียงมิติหนึ่งที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายด้านการกำกับดูและการกำหนดกฎระเบียบ

กล่าวโดยสรุป การเติบโตขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสใหม่และก็เป็นความท้าทายที่ต้องรับมือ โดยเฉพาะการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

เพราะโดยธรรมชาติของแพลตฟอร์มเหล่านี้จะมีการวิวัฒนาการไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ กฎระเบียบและการกำกับดูแลก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการส่งเสริมนวัตกรรมและการรักษาสมดุลในแข่งขัน ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ความเป็นส่วนตัว และผลประโยชน์สาธารณะ

นอกจากประเด็นเหล่านี้ ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องดำเนินการอีกมาก ด้วยเหตุนี้ทางเลือกที่ได้รับการพูดถึงการมากขึ้น คือ การเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนได้ร่วมกันออกแบบพิมพ์เขียวของการกำกับดูแลที่เหมาะสม

เพื่อเป็นหลักประกันว่าการดำเนินการตามพิมพ์เขียวนี้ จะนำไปสู่การสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจกับคุณค่าทางสังคม รวมถึงการบรรเทาผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด