‘ดีป้า’ หนุนรัฐปูฐานความพร้อม ‘เอไอ’ อัพสกิลทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

‘ดีป้า’ หนุนรัฐปูฐานความพร้อม ‘เอไอ’ อัพสกิลทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

มองรัฐบาลต้องขับเคลื่อนองค์ประกอบสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาเอไอ รองรับการพัฒนาจากนอกประเทศ ควบคู่ส่งเสริมการพัฒนาเอไอภายในประเทศ พร้อมเนรมิตงานใหญ่ “Thailand Digital IP Forum 2024” เดินหน้ายกระดับความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ อีกทั้งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 'เอไอ'

ดังนั้น รัฐบาลต้องขับเคลื่อนองค์ประกอบสำคัญในการเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาเอไอ ประกอบด้วย AI Importer การเตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาเอไอจากนอกประเทศ AI Provider การส่งเสริมการพัฒนาเอไอภายในประเทศ 
AI Distributor การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัล AI Manpower การเตรียมพร้อมกำลังคนดิจิทัลสาขาเอไอ และ AI User การสร้างความตระหนักรู้ด้านการใช้เอไออย่างปลอดภัยแก่คนไทย

นอกจากนี้ เอไอยังส่งผลกระทบและสร้างความท้าทายต่อการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้า ฯลฯ 

ซึ่ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี โดย ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญและดำเนินการส่งเสริมการจัดทำหรือยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี เอไอซึ่ง ดีป้า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินงานต่าง ๆ จะช่วยรักษาและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อก้าวสู่ระดับสากล

นอกจากนี้ ผอ.ดีป้า ยังเป็นประธาน
ในพิธีเปิดงาน Thailand Digital IP Forum 2024 ภายใต้แนวคิด The NextFrontier – IP in the Era of AI Driven World กิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร และเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเหล่าผู้ประกอบการ SMEs ดิจิทัลสตาร์ทอัพ นักลงทุน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปจากผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับแนวหน้าของประเทศ ผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่ได้รับ
การส่งเสริมการจัดทำหรือยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล รวมถึงบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งเกิดการจับคู่ธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงาน Thailand Digital IP Forum 2024 ยังได้พบกับการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาระดับแนวหน้าของไทยในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัลในมุมมอง
ที่ต้องใจผู้ประกอบการไทยยุคปัญญาประดิษฐ์ขับเคลื่อนโลก พลิกสถานการณ์ธุรกิจด้วยสิทธิบัตรจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เปิดประสบการณ์ขยายผลต่อยอดจากคำขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร โดยผู้ประกอบการที่ได้การส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการคูปองดิจิทัล เพื่อการจัดทำ หรือยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Intellectual Property Voucher) ความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ การรับถ่ายโอนเทคโนโลยีและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจากหิ้งสู่ห้างและขยายวงกว้างสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ และเคล็ดลับการขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรด้านดิจิทัล

 

นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีการนำเสนอผลงานจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัลที่ได้รับการส่งเสริมทรัพย์สิน
ทางปัญญาด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ที่ส่งผลกระทบและสร้างความท้าทายต่อ
การคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่าง ๆ รับคำปรึกษาเกี่ยวกับการขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจากบูธกิจกรรมของ ดีป้า และคลินิกให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายและบริษัทชั้นนำของประเทศ