เอไอกับการควบคุม

เอไอกับการควบคุม

การเติบโตของธุรกิจด้านเอไอดูเหมือนเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลก

การเติบโตของเทคโนโลยีเอไอไม่ได้เป็นจุดสนใจเฉพาะแวดวงเทคโนโลยี แต่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกไปแล้วด้วยมูลค่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องเช่น NVIDIA มีรายได้และผลกำไรสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา

การแถลงผลการดำเนินงานล่าสุดของ NVIDIA นั้นทำให้นักลงทุนทั่วโลกตื่นเต้นไปกับรายได้รวมทั้งปีที่ทะลุ 2 ล้านล้านบาทด้วยอัตราการเติบโต 126% ในขณะที่ผลกำไรนั้นสูงถึงมากกว่า 1 ล้านล้านบาทเติบโตมากกว่าปีที่แล้วถึง 5 เท่า

เช่นเดียวกับ OpenAI เจ้าของ ChatGPT ที่ประกาศระดมเงินลงทุนครั้งมโหฬารถึง 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ การเติบโตของธุรกิจในด้านปัญญาประดิษฐ์จึงดูเหมือนเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโลกจากนี้ไปจนถึง 3-5 ปีข้างหน้า

ปัญหาที่น่ากังวลคือเราให้ความสำคัญกับมันมากเกินความเป็นจริงไหม? เพราะการลงทุนในระดับล้านล้านดอลลาร์ นั้นใหญ่กว่าระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศในโลกนี้ เมื่อต้องใช้เม็ดเงินมากระดับนี้ ผลตอบแทนที่จะกลับคืนมาเป็นอย่างไร รูปแบบในการทำรายได้จะเป็นอย่างไร เมื่อไรจะคืนทุน ฯลฯ

เพราะหากไม่มีการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้โอกาสที่การเติบโตของธุรกิจเอไอจะเป็นเพียงฟองสบู่เหมือนที่เราเคยพบกับ “ฟองสบู่ดอตคอม” เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วที่ใคร ๆ ต่างก็กระโจนเข้าสู่ธุรกิจดอทคอม อันหมายถึงธุรกิจออนไลน์ที่เพิ่งตื่นตัวกันในช่วงเวลาก่อนปี ค.ศ. 2000

ย้อนกลับไปช่วงปี 1996 ตลาดดัชนีอุตสาหกรรมไฮเทค NASDAQ ทะยานจาก 600 จุดไปสู่ 5,000 จุดในปี 2000 คงสะท้อนให้เห็นภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยในยุคนั้นธุรกิจออนไลน์หรือที่เรียกกันว่า “ดอตคอม” (.com) เป็นสิ่งแปลกใหม่และล้ำยุคไม่ต่างอะไรกับธุรกิจด้านเอไอในวันนี้

ความแปลกใหม่ทำให้นักลงทุนลืมพื้นฐานของการทำธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายจากระบบค้าปลีกเดิมๆ มาสู่ออนไลน์ทำให้คนทั่วไปสนใจยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์หรือจำนวน Traffic ที่เกิดขึ้นมากกว่ารายได้และผลกำไร

ผลก็คือธุรกิจออนไลน์หลายบริษัทสามารถตบเท้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ระดมทุนได้มากมายทั้งที่ผลประกอบการติดลบมโหฬารเพราะนักลงทุนกลัวจะตามกระแสไม่ทันหรือตกขบวนดอตคอมจึงมองข้ามข้อด้อยด้านกำไรและรายได้แล้วไปหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในอนาคต

การมาถึงของเทคโนโลยีเอไอ เป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่เราจะปล่อยให้ฟองสบู่เหมือนดอตคอมเกิดขึ้นซ้ำสองไม่ได้เช่นกัน นั่นคือเราจำเป็นต้องกลับมาดูสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจกันอย่างจริงจังโดยเฉพาะปัจจัยขั้นต้นเช่นต้นทุน รายได้ และกำไร

นั่นหมายความว่าธุรกิจเอไอจะเติบโตได้อย่างมั่นคงก็จะต้องมีกติกาและระบบนิเวศที่ดีรองรับ เช่นเดียวกับสินค้าและบริการที่สร้างรายได้ป้อนให้กับระบบเศรษฐกิจอยู่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหลายธุรกิจก็ล้วนมีความเป็นมายาวนานนับร้อยนับพันปี ผ่านการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การธนาคาร การขนส่ง การประกันภัย ฯลฯ ก็ล้วนต้องมีกฎกติกา และมีกฎหมายรองรับเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใสและไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบในขณะที่ปัจจุบันเรายังปล่อยให้เอไอเติบโตกันอย่างอิสระเสรี

เพราะท้ายที่สุดมนุษย์เรายังต้องเป็นเจ้าของเอไอเสมอ การพัฒนาระบบเอไอจึงต้องมีกลไกในการควบคุมที่ดีพอโดยต้องเน้นที่การสร้างคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดีขึ้น 

เพราะผลกระทบที่เกิดจากเอไอนั้นไม่ได้มีเพียงด้านธุรกิจ แต่ยังครอบคลุมไปถึงด้านสังคมและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก ดังนั้นกติกาที่มีจะต้องเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น