กสทช.คลอดโรดแมปประมูลคลื่นแล้ว ลุยเคาะ 4 ย่านความถี่รวดกลางปีนี้

กสทช.คลอดโรดแมปประมูลคลื่นแล้ว ลุยเคาะ 4 ย่านความถี่รวดกลางปีนี้

“สมภพ” เผยคลอดโรดแมปประมูลคลื่นไตรมาส 2 ปีนี้ จี้เอ็นทีส่งแผนธุรกิจก่อน 3 คลื่นความถี่ 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz หมดอายุปี 68 พร้อมมัดรวมคลื่น 3500 MHz บรรจุโรดแมปเดียวกัน คาดเปิดประมูลก่อนคลื่นหมดอายุ

KEY

POINTS

  • ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ กสทช.จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ โรดแมป เพื่อนำคลื่น 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz และ 3500 MHz มาประมูล
  • ปัจจุบัน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ถือครองคลื่นอยู่คือ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568 นั้น
  • กสทช.ได้หารือกับกรรมการผู้จัดการใหญ่เอ็นทีให้เร่งส่งแผนบริหารความถี่ก่อนสิ้นสุดการถือครองมาสำนักงานฯ

“สมภพ” เผยคลอดโรดแมปประมูลคลื่นไตรมาส 2 ปีนี้ จี้เอ็นทีส่งแผนธุรกิจก่อน 3 คลื่นความถี่ 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz หมดอายุปี 68 พร้อมมัดรวมคลื่น 3500 MHz บรรจุโรดแมปเดียวกัน คาดเปิดประมูลก่อนคลื่นหมดอายุ

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ กสทช.จะออกแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ โรดแมป เพื่อนำคลื่น 850 MHz , 2100 MHz , 2300 MHz และ 3500 MHz มาประมูล ดังนั้นคลื่นความถี่ที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ใช้อยู่คือ 850 MHz , 2100 MHz และ 2300 MHz ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2568 นั้น

ดังนั้น เอ็นทีต้องทำแผนคลื่นความถี่ของเอ็นทีให้ชัดเจนว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไร เมื่อไม่มีคลื่นความถี่ดังกล่าว และเหลือเพียงคลื่น 700 MHz จำนวน 5 MHz ที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น โดยต้องส่งกลับมาให้กสทช.เร็วที่สุด เพื่อให้กสทช.ดำเนินการประมูลคลื่นดังกล่าวก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต

“ผมได้คุยกับ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที เรียบร้อยแล้ว คาดว่าเขาจะส่งแผนให้เร็วๆนี้ เมื่อเขามีแผนว่าจะเดินหน้าอย่างไร เขาก็จะได้ขอกรอบงบประมาณจากรัฐบาลในการลงทุนต่อไป ซึ่งคลื่นความถี่นั้นตามกฎหมายต้องประมูล แต่ไม่ควรแพง เพราะภาระจะตกที่ผู้บริโภค สิ่งสำคัญคือเรื่องการเงินของเอกชนว่ามีความพร้อมหรือไม่”

สำหรับกรอบการทำงานประมูลคลื่นความถี่ เมื่อได้แผนคลื่นความถี่ของเอ็นทีมาแล้ว จะดำเนินการจัดโฟกัสกรุ๊ป 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบข้อคิดเห็นและความต้องการของเอกชนว่ายังสนใจประมูลคลื่นหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าคลื่น 850 MHz และ 2300 MHz มีความน่าสนใจน้อย ขณะที่คลื่น 3500 MHz มีระบบนิเวศน์ที่พร้อมในการทำธุรกิจมากกว่า ขณะที่คลื่น 2100 MHz ของเอ็นทีคืนมาให้กสทช.เพียง 15 MHz ควรจะรออีก 2 ปี เพราะคลื่นของเอกชนจะหมดอายุใบอนุญาตที่จะต้องคืนให้กับกสทช.อีก 45 MHz 

งบUSOกว่า6,000ล้านบาทยังไม่สรุป

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันนี้ 6 มีนาคม บอร์ด กสทช.พิจารณาลงนามรับรองรายงานการประชุมจำนวน 4 วาระ ส่วนเรื่องโครงการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานทั่วถึง หรือ USO มูลค่าโครงการ 6 พันล้านบาท คณะกรรมการบอร์ด กสทช.ยังไม่ได้มีการหยิบยกพิจาราณา ซึ่งคาดว่าในวันที่ 20 มีนาคม 2567 จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม

ขณะที่ นางสาวพิรงรอง รามสูต  กรรมการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานทั่วถึง หรือ USO ทางบอร์ดให้การสนับสนุนโครงการเพื่อให้บริการทั่วถึงกับประชาชนที่ขาดแคลนด้านเทคโนโลยี แต่ยังคงมีคำถามกรณีของขยายระบบโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุข ให้มุ่งเน้นโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 8,000 แห่ง แต่สำนักงาน กสทช.เสนอมาเพียง 2,000  แห่งเท่านั้น 

“โครงการ USO บอร์ด กสทช.ได้มอบหมายให้จัดทำแผนอย่างละเอียดมาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา โครงการ USO 3 จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยในวันที่ 20 มีนาคมนี้ บอร์ด กสทช.พิจารณาในเรื่องนี้”