‘ดีอี‘เรียกถกรักษาวงโคจรดาวเทียม หลัง 2 ตำแหน่งที่เหลือส่อขายไม่ออก

‘ดีอี‘เรียกถกรักษาวงโคจรดาวเทียม หลัง 2 ตำแหน่งที่เหลือส่อขายไม่ออก

ตั้งโต๊ะหาแผนสำรอง หากวงโคจรดาวเทียมที่เหลือ 2 ตำแหน่งขายไม่ออก เพราะมีฟุตปริ้นท์อยู่ตะวันออกกลาง-ทะเลแคริเบียนยากต่อการทำตลาด เอกชนไม่สนใจเพราะลงทุนไม่คุ้ม เผยต้องทำความเข้าใจกับสังคมอย่างหนัก ยันไม่ใช่ละเลยรักษาสมบัติชาติแต่ดำเนินการอยู่สุดความสามารถแล้ว

KEY

POINTS

  • หารือถึงเรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียม ในตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 142 องศาตะวันออก หลังเปิดประมูลครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ
  • หากประมูลดาวเทียมไม่สำเร็จอีกครั้งแล้วถูกไอทียู เรียกคืนวงโคจร ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมอย่างละเอียดว่าที่ผ่านมาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำอย่างเต็มที่ 
  • แม้กสทช.ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ เพื่อให้ได้เปิดประมูลแล้ว และราคาก็ไม่ได้แพงเหมือนในอดีต แต่ก็ยังไม่มีเอกชนสนใจ เพราะดาวเทียมมี Footprint อยู่แถบทะเลแคริเบียนและตะวันออกกลาง ยากแก้การทำตลาดเชิงพาณิชย์
  • บอร์ดกสทช.มีมติปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ในสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่สำเร็จ และจะประมูลใหม่ภายในปีนี้

ตั้งโต๊ะหาแผนสำรอง หากวงโคจรดาวเทียมที่เหลือ 2 ตำแหน่งขายไม่ออก เพราะมีฟุตปริ้นท์อยู่ตะวันออกกลาง-ทะเลแคริเบียนยากต่อการทำตลาด เอกชนไม่สนใจเพราะลงทุนไม่คุ้ม เผยต้องทำความเข้าใจกับสังคมอย่างหนัก ยันไม่ใช่ละเลยรักษาสมบัติชาติแต่ดำเนินการอยู่สุดความสามารถแล้ว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมเพื่อหารือถึงเรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียม ในตำแหน่งวงโคจร 50.5 และ 142 องศาตะวันออก ที่ได้จองสิทธิการใช้วงโคจรจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู หลังจากการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม  ของสำนักงาน กสทช. ครั้งแรกตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ยังประมูลไม่ออก ไม่มีเอกชนรายใดสนใจ

“ตำแหน่งสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่ออก เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งแถบทะเลแคริเบียน และตะวันออกกลาง พื้นที่ให้บริการไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ทำให้การหาลูกค้าทำได้ยาก และคู่แข่งต่างประเทศมีหลายราย จึงยังไม่มีเอกชนสนใจ ประมูลไปทำธุรกิจ ซึ่งได้ให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐที่กำหนดนโยบาย และ กสทช. ซึ่งเป็นผู้จัดประมูล และให้ใบอนุญาตไปว่า ให้พยายามดำเนินการให้ถึงที่สุดก่อน ทั้งเรื่องการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล หรือ จะสามารถจะมีวิธีที่จูงใจเอกชน ให้สนใจเข้าร่วมประมูลให้ได้ เพื่อรักษาวงโคจรดังกล่าวของไทยไว้ไม่ให้ถูกไอทียู เรียกคืน”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าถึงที่สุดแล้วหากยังไม่มีผู้สนใจหรือประมูลดาวเทียมไม่สำเร็จอีกครั้งแล้วถูกไอทียู เรียกคืนวงโคจร ก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมอย่างละเอียดว่าที่ผ่านมาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำอย่างเต็มที่ และได้เปิดประมูลแล้ว และราคาก็ไม่ได้แพงเหมือนในอดีต แต่ก็ยังไม่มีเอกชนสนใจ อย่างไรก็ตามได้รับทราบมาว่าภายในปีทาง กสทช. จะเปิดให้มีการประมูล ดาวเทียมสองวงโคจรนี้อีกครั้ง โดยได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคุณสมบัติเพื่อจูงใจ ให้เอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลมากขึ้น ซึ่งต้องรอดู แต่ทางดีอีจะมีการหารือเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้อย่างดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดกสทช.มีมติภายหลังการประชุมบอร์เเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุม และได้พิจารณา การปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (แพ็กเกจ) ในสองวงโคจรที่ยังประมูลไม่ออกไป เมื่อกลางเดือนก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ยังคงใช้วิธีการ ประมูล โดยมีราคาขั้นต้นที่ปรับในส่วนของราคาโอกาสในการทำธุรกิจออก ให้เหลือเฉพาะต้นทุนที่รัฐได้ใช้ไปในการได้ข่ายงานดังกล่าว และมีการเสนอทางเลือกที่ 1 คือ การใช้ราคารูปแบบเคาะราคา เช่นเดิม 

หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ การเสนออัตราผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็นเปอร์เซ็นต์ โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5%    โดยทาง สำนักงาน กสทช. จะนำ ร่างประกาศฯ ที่ได้ปรับปรุงนี้ นำเสนอต่อที่ประชุม บอร์ดกสทช.ในเร็วๆนี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบอนุมัติต่อไป เพื่อให้สามารถจัดประมูล ใบอนุญาตดาวเทียมทั้งสองวงโคจรที่เหลือให้ได้ภายในปีนี้