‘ดีอี-BDI’ ชูบิ๊กดาต้า-AI เคลื่อนประเทศ ตั้งเป้าสร้างเม็ดเงิน 3,000 ล้านบ.

‘ดีอี-BDI’ ชูบิ๊กดาต้า-AI เคลื่อนประเทศ ตั้งเป้าสร้างเม็ดเงิน 3,000 ล้านบ.

แถลงบทบาทใหม่เดินหน้าหนุนใช้บิ๊กดาต้า และ AI ขับเคลื่อนเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล เทคโนโลยีข้อมูล นวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้านข้อมูล เพื่อขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหลัก ตั้งเป้าปี 2567 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (BDI) เมื่อมิ.ย.2566 

  • โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า 

  •  BDI ประเมินว่า ภายในปี 2567 จากการขับเคลื่อนภารกิจหลักจะสร้างผลกระทบต่อมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท 

  • สร้างโอกาสการจ้างงานจากการพัฒนากำลังคนด้านบิ๊กดาต้า มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท สนับสนุน และพัฒนาให้รัฐทำงานร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล

แถลงบทบาทใหม่เดินหน้าหนุนใช้บิ๊กดาต้า และ AI ขับเคลื่อนเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล เทคโนโลยีข้อมูล นวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้านข้อมูล เพื่อขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหลัก ตั้งเป้าปี 2567 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท

ทันทีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Big Data Institute (Public Organization) เรียกโดยย่อว่า BDI ไปเมื่อมิ.ย.2566 เพื่อให้การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและเกิดการร่วมมือในข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ล่าสุด BDI ประกาศขยับสู่บทบาทในการส่งเสริมและประสานให้เกิดการใช้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจและบริการ พร้อมกันนี้ BDI ยังเป็นหน่วยงานผู้ให้บริการเชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลในสาขาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ AI  สร้างระบบนิเวศในห่วงโซ่คุณค่าด้านข้อมูลทั้งในมิติของเทคโนโลยี และกำลังคน ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการด้านข้อมูลเพิ่มขึ้น รองรับอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมด้วยพัฒนากำลังคนด้านบิ๊กดาต้า

BDI,บิ๊กดาต้า,AI,บทบาทใหม่

ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI เปิดเผยว่า จุดเด่นที่สำคัญของ BDI คือ การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ด้านข้อมูลกว่า 100 คน ที่พร้อมเรียนรู้ ยืดหยุ่น คล่องตัว และมีเป้าหมายชัดเจน ที่จะพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน และมีความโปร่งใส การพัฒนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ผ่านการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล Data-Driven Nation ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยข้อมูลเพื่อนำทางการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม

ทั้งนี้ BDI ประเมินว่า ภายในปี 2567 จากการขับเคลื่อนภารกิจหลักจะสร้างผลกระทบต่อมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท

โดยจะมาจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ซึ่งช่วยลดต้นทุนความซ้ำซ้อนของการบริการด้านสาธารณสุข และเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ใช้บริการแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการท่องเที่ยว (Travel Link) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) ตลอดจนสร้างโอกาสการจ้างงานจากการพัฒนากำลังคนด้านบิ๊กดาต้า มีมูลค่ามากกว่า 200 ล้านบาท พร้อมทั้งสนับสนุน และพัฒนาให้รัฐทำงานแบบบูรณาการร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงข้อมูล และสร้างให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ภาครัฐ เอกชนและประชาชนจะได้รับ

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า BDI จะเป็นองค์กรหลักที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ลดปัญหาการทำงานแบบแยกส่วนกันของหน่วยงานภาครัฐ สามารถนำเอาข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันจนเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของไทยในเวทีโลกให้ดียิ่งขึ้น

3 โปรเจคหลัก ของ BDI ที่พร้อมนำข้อมูลมาสู่การขับเคลื่อนประเทศ

1. Project BIG: Big Data Integration and Governance 

รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดเก็บ รวมทั้งให้บริการการวิเคราะห์ข้อมูลตามโจทย์และความเหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้อย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย

- โครงการ Health Link 

แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างสถานพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาได้ทันที 

- โครงการ Travel Link 

แพลตฟอร์มเชื่อมโยงและพัฒนาบริการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว ขยายขีดความสามารถการแข่งขันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

- โครงการ Envi Link 

แพลตฟอร์มบริการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับพื้นที่เมือง เพื่อสนับสนุนการวางแผนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด และลด Carbon Footprint

- Data Analytics services  

บริการบูรณาการ พัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่แก่หน่วยงานภาครัฐ

- Data and Information Technology

บริการด้านวิศวกรรมข้อมูล 

2. Project Bridge

พัฒนาผู้ประกอบการโดยสร้างทั้งอุปสงค์และอุปทานของศาสตร์ด้านข้อมูล ประกอบด้วย 

- Big Data Business Promotion 

ศึกษาตลาดด้านข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์โจทย์ปัญหา และให้คำปรึกษาในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ 

- Big Data Ecosystem & Industrial Promotion 

สร้างประชาคมและเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่าด้าน Big Data 

- Research And Innovations 

ค้นคว้า และพัฒนา ขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคต ผ่านนวัตกรรมทาง Big Data และ AI

- Thai Large Language Model (ThaiLLM) 

พัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) เป็น โครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ภาษาไทย (ThaiLLM) ที่มีความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความหมายและเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการใช้ภาษาของมนุษย์ พร้อมทำการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทยที่เป็นโมเดลกลาง (Foundation Model) ที่สามารถใช้งานได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายงานประยุกต์ทั้งในภาครัฐและเอกชน

3. Project Learn 

- Manpower Development in Big Data 

พัฒนากำลังคนด้าน Big Data ยกระดับทักษะด้านการประมวลผล การวิเคราะห์ และปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อสร้างนักวิเคราะห์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูล ให้กับประเทศ

- Big Data E-Learning and Practice-Based Learning

แพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อพัฒนากําลังคนด้านบิ๊กดาต้าและ AI เพื่อพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับ Digital Age (New skill)