ชง‘กสทช.’ไฟเขียวประมูลดาวเทียมปีนี้ อนุฯเคาะเกณฑ์ใช้วิธี‘ประมูล’ตามเดิม

ชง‘กสทช.’ไฟเขียวประมูลดาวเทียมปีนี้ อนุฯเคาะเกณฑ์ใช้วิธี‘ประมูล’ตามเดิม

คลอดแล้ว! หลักเกณฑ์ประมูลดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ที่เหลือจากการประมูลครั้งที่แล้วจำนวน 2 ชุดวงโคจร หลังคณะอนุฯ เคาะเงื่อนไขคงการประมูลเหมือนเดิม ก่อนส่งต่อบอร์ดกสทช.พิจารณา หวังประมูลให้ทันภายในปีนี้

Key Point

:วิธีการคัดเลือกยังคงใช้วิธีการประมูล โดยมีราคาขั้นต้นที่ปรับในส่วนของราคาโอกาสในการทำธุรกิจ (Opportunity Cost) ออกให้เหลือเฉพาะต้นทุนที่รัฐได้

:มีการเสนอทางเลือกที่ 1 คือ การใช้ราคารูปแบบเคาะราคา เช่นเดิม หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ การเสนออัตราผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5%

:ข้อกำหนดให้มีดาวเทียมเป็นของตนเอง  5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ให้บริการ (Footprint) ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ 

: กำหนดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ (State Use and Public Services) ยังคงมีไม่น้อยกว่า 400 Mbps หรือ 1 Transponder เช่นเดิม

หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. มีมติ เมื่อ 25 ต.ค. 2566 ให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Public Hearing) ต่อหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่เหลือจากการประมูลครั้งที่แล้ว คือ ชุด A ได้แก่วงโคจร 50.5 E และ 51E ชุด B คือวงโคจร 142E ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการจัดประชุมดังกล่าวไปในวันที่ 24 พ.ย. 2566 ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ และได้เร่งรัดสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น เพื่อจะได้นำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรักษาสิทธิด้วยการให้มีการใช้งานจริงภายในปีนี้ มิเช่นนั้นอาจจะถูกยกเลิกข่ายงานดาวเทียมดังกล่าวตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้

ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่ไทยถือครองอยู่

ชง‘กสทช.’ไฟเขียวประมูลดาวเทียมปีนี้ อนุฯเคาะเกณฑ์ใช้วิธี‘ประมูล’ตามเดิม

ล่าสุดแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ แจ้งว่า กสทช. และ สำนักงาน กสทช.ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ได้เร่งรัดดำเนินการดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ได้ เนื่องจาก คณะอนุกรรมการด้านกิจการดาวเทียม ที่มี กสทช. นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณา กลั่นกรองและให้ความเห็นในเรื่องนี้ ได้หมดวาระไปเมื่อ 18 พ.ย.2566 และได้มีการเร่งรัดให้ สำนักงาน กสทช. บรรจุวาระ เรื่อง การขยายระยะเวลาของคณะอนุกรมการฯ เพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว แต่ประธาน กสทช. เพิ่งอนุมัตินำวาระเข้าและลงนามในคำสั่งเมื่อ 6 ก.พ.2567 นี้ ทำให้คณะอนุกรรมการฯ เพิ่งประชุมเพื่อพิจารณาได้ เมื่อ 13 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา 

สำหรับสาระสำคัญในการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ หลังรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ได้ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการฯ มีประเด็นหลัก ดังนี้ 

1. คุณสมบัติของผู้ขอรับอนุญาต ยังคงเดิมเพื่อผ่อนคลายเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาได้ แต่คงมีมาตรการบังคับที่เข้ม กรณีที่ได้ไปแล้วไม่สามารถดำเนินการได้  

2. วิธีการคัดเลือก ยังคงใช้วิธีการประมูล โดยมีราคาขั้นต้นที่ปรับในส่วนของราคาโอกาสในการทำธุรกิจ (Opportunity Cost) ออก ให้เหลือเฉพาะต้นทุนที่รัฐได้ใช้ไปในการได้ข่ายงานดังกล่าว (Sunk Cost) และมีการเสนอทางเลือกที่ 1 คือ การใช้ราคารูปแบบเคาะราคา เช่นเดิม หรือ ทางเลือกที่ 2 คือ การเสนออัตราผลตอบแทนให้กับรัฐ เป็น X% โดยมีขั้นต่ำเริ่มที่ 2.5%

3. ข้อกำหนดให้มีดาวเทียมเป็นของตนเอง ได้ปรับจากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ให้บริการ (Footprint) ของดาวเทียมในครั้งนี้อยู่ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในการนำคลื่นความถี่ขึ้นใช้งานกับดาวเทียมเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรยังคงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับ ITU เช่นเดิม

4. เงื่อนไขอื่นๆ เช่น การจัดตั้งสถานีควบคุมดาวเทียมและการให้เพิ่มเติ่มการอนุญาตสถานีควบคุมการบริการจัดการดาวเทียมนอกประเทศไทย รวมทั้งการกำหนดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐ (State Use and Public Services) ยังคงมีไม่น้อยกว่า 400 Mbps หรือ 1 Transponder เช่นเดิม

จากนี้สำนักงาน กสทช. จะได้สรุปผลจากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ และนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป เนื่องจากระยะเวลาในการรักษาสิทธิต้องดังกล่าวได้กระชั้นและดำเนินการให้ได้ภายในปีนี้