ทรูดีไซน์โซลูชันรุกตลาด‘เอสเอ็มอี’ พบตกเป็นเป้าเหยื่อใหม่โจรไซเบอร์

ทรูดีไซน์โซลูชันรุกตลาด‘เอสเอ็มอี’ พบตกเป็นเป้าเหยื่อใหม่โจรไซเบอร์

ทรูปลุก‘เอสเอ็มอี’รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ เผยที่ผ่านมามองว่าสำคัญแต่เมื่อโดนโจมตีบางรายถึงขั้นเลิกกิจการ ระบุดีไซน์แพคตามงบของแต่ละราย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาท ลั่นตอนนี้ยังเป็นบริษัทเดียวในตลาดที่จับลูกค้ากลุ่มนี้ ตั้งเป้าโตปีนี้ 20% พร้อมสยายปีกสู่เอเชีย

Key Point

:มูลค่าตลาดรวมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เติบโตเฉลี่ยปีละ 12% ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท

:เอสเอ็มอีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยคุกคามไซเบอร์สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 3 เท่า

:สถิติแฮกเกอร์ใช้เวลา 84 นาทีในการโจรกรรมข้อมูล

:พบคนไทยกว่า 10 ล้านคนทำ Password หลุดโดยไม่ได้ตั้งใจ

:Top 5 ที่ถูกโจมตีมากที่สุด 1.อุตสาหกรรมการผลิต 2.หน่วยงานราชการ 3.ค้าปลีก 4.ประกัน และ 5.โทรคมนาคม

ฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าสายงานด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การทรานสฟอร์มและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ในปี 2566 ที่ผ่านมา สถิติภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ของประเทศไทยมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึงเท่าตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดรวมของตลาดป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยปีละ 2 ดิจิ และปีนี้คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อน 11.68% หรือคิดเป็น 13,000 ล้านบาท

ทรูดีไซน์โซลูชันรุกตลาด‘เอสเอ็มอี’ พบตกเป็นเป้าเหยื่อใหม่โจรไซเบอร์

โดย 5 อันดับกลุ่มธุรกิจที่ตกเป็นเป้าโจมตีได้แก่ 1.ภาคอุตสาหกรรมการผลิต  2.หน่วยงานราชการ 3.ค้าปลีก 4.ประกัน และ 5.โทรคมนาคม ยังกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของการโจมตี เนื่องจากประสิทธิภาพของระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไม่เพียงพอ รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภัยคุกคามไซเบอร์สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 3 เท่า และพบคนไทยกว่า 10 ล้านคนทำ Password หลุดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ดังนั้น ทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ต้องการสร้างความเท่าเทียมให้คนไทยและภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีได้ง่าย เหมาะสมและคุ้มค่า ตอบโจทย์ตรงความต้องการและได้ประโยชน์มากขึ้น บนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง เพื่อรองรับการทรานสฟอร์มที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการใช้เทคโนโลยีระบบปฏิบัติการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ 

ตลอดจนการเก็บข้อมูลสำคัญในระบบดิจิทัล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น อาจมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีระบบหรือโจรกรรมข้อมูล อีกทั้งผู้โจมตียังมีความสามารถในการคิดค้นและใช้เครื่องมือใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจจึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์ด้านความมั่งคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยให้ความสำคัญใน 3 องค์ประกอบหลัก คือ

1.การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และสร้างความตื่นตัวต่อภัยไซเบอร์ให้แก่บุคลากรทุกระดับ

 2.การปรับเปลี่ยนระบบความปลอดภัยในกระบวนการและระบบต่างๆ ขององค์กร 

และ3. การลงทุนในเทคโนโลยีและระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคาม

 

“สถิติพบว่าแฮกเกอร์ใช้เวลาเพียง 84 นาทีในการเจาะข้อมูลเข้าไปในระบบของหน่วยงาน และหากเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีพบว่ามีกว่า 30% ที่ทำให้สูญเสียลูกค้า และบางรายเมื่อโดนแฮกเข้ามาในระบบและถูกเรียกค่าไถ่เป็นบิทคอยท์ก็ทำให้เอสเอ็มอีบางรายถึงขั้นต้องปิดกิจการ“

เธอ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทรู ดิจิทัล ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ มีลูกค้าราว 100 บริษัท ให้บริการในเอเชีย อาทิ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย โดยที่ผ่านมามีสัดส่วนลูกค้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่มากถึง 95% ที่เหลือคือกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี 5% แต่ในปีนี้บริษัทเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีจึงตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนเป็น 20% และคิดเป็นลูกค้าเอสเอ็มอี 1,000 รายในปี 2568 ด้วยการนำเสนอโซลูชั่นเสริมเกราะป้องกันภัยคุกคาม ด้วยระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เหนือกว่าเดินหน้าพัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งมอบบริการระดับมืออาชีพ ให้ทุกองค์กรมั่นใจได้มากกว่า ด้วยหลากหลายจุดเด่น ดังนี้

ทรูดีไซน์โซลูชันรุกตลาด‘เอสเอ็มอี’ พบตกเป็นเป้าเหยื่อใหม่โจรไซเบอร์

• ขับเคลื่อนระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วยเทคโนโลยี ML และ AI เพิ่มขีดความสามารถในการคาดการณ์การโจมตีระบบบนโลกไซเบอร์ ทั้งการตรวจจับความผิดปกติ  วิเคราะห์ แจ้งปัญหาได้แบบเรียลไทม์ และเชื่อมโยงกับระบบอัตโนมัติ ทำให้ตอบสนองต่อการโจมตี ตัดกระบวนการโจมตีได้อย่างทันท่วงที

• การันตีมาตรฐานสากลในการให้บริการแบบ Secure Digital Transformation and Operation อาทิ ระบบความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ISO 27001

• ทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองชั้นนำระดับโลก  อาทิ CISSP, CISM, GIAC, OSCP เป็นต้น ช่วยดูแลความปลอดภัยให้ธุรกิจต่อเนื่องทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทรูมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ 80 คน

• ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรชั้นนำ ในการพัฒนาบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนร่วมกันผลักดันการสร้างความตระหนัก และเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ