ยุทธศาสตร์ ‘AWS’ 2567 ชู ‘คลาวด์ - เอไอ’ ขับเคลื่อนดิจิทัลไทย

ยุทธศาสตร์ ‘AWS’ 2567  ชู ‘คลาวด์ - เอไอ’ ขับเคลื่อนดิจิทัลไทย

เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ “คลาวด์” กำลังกลายเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยฝ่าฟันวิกฤติ รากฐานของการพัฒนานวัตกรรม การปรับใช้เทคโนโลยี ไทม์ทูมาร์เก็ต ช่วยลดค่าใช้จ่าย รวมถึงประเด็นด้านความยั่งยืน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังเป็นวาระสำคัญระดับโลก...

Keypoints :

  • ผลักดันธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างมีศักยภาพ ฝ่าความท้าทายความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์
  • สานต่อแผนงานลงทุน “AWS Region” งบลงทุน 1.9 แสนล้านบาทในประเทศไทย
  • หนุนการใช้งานคลาวด์ เอไอ แมชีนเลิร์นนิง GenAI ดาต้า และแอปโมเดิร์นไนเซชัน

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอดับบลิวเอส ในเครืออะเมซอน กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของเอดับบลิวเอสปี 2567 ในประเทศไทยว่า ยังคงมุ่งผลักดันให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างมีศักยภาพ

โดยเอดับบลิวเอส ยังคงเดินหน้าตามแผนงานที่ประกาศลงทุนอินฟราสตรักเจอร์คลาวด์ระดับโลกในประเทศไทย “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในไทยจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันการใช้งานคลาวด์ สร้างนวัตกรรม และลดการลงทุนโดยภาพรวม โดยเอดับบลิวเอสมีมุมมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอน ทั้งด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ใครที่สามารถปรับตัวได้ไวที่สุดย่อมเป็นผู้ที่สามารถอยู่รอดได้ ที่สำคัญคือการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ทุกมิติของการทำธุรกิจยุคใหม่

สำหรับการโฟกัสลูกค้าจะมีอยู่ 8 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ยานยนต์ ธุรกิจดิจิทัล พลังงาน การเงิน เฮลธ์แคร์ การผลิต ค้าปลีก และกลุ่ม TMEG ซึ่งครอบคลุมทั้งโทรคมนาคม มีเดีย บันเทิง และเกมมิง

ดัน ‘GenAI’ ขับเคลื่อนธุรกิจ

หลังจากนี้จะมีการประกาศกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ มากกว่านั้นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยเฉพาะด้านคลาวด์ เพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆ รวมถึงคลาวด์รีเจียนที่กำลังจะมา

ในแผนงานจะมีการเพิ่มพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ ต่อเนื่องเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงเช่น GenAI โดยจะมีทั้งผู้ติดตั้งระบบ(เอสไอ) ไอเอสวี สตาร์ตอัป เปิดโอกาสให้องค์กรใหม่ๆ ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน

ด้านบริการเทคโนโลยี เน้น “Advanced cloud services” บริการคลาวด์อินฟราสตรักเตอร์ รวมถึงโซลูชันด้านคลาวด์ที่จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการและการทำงานของภาคธุรกิจ ครอบคลุมไปถึง เอไอ แมชีนเลิร์นนิง GenAI ดาต้า และแอปโมเดิร์นไนเซชัน ทำให้ภาคธุรกิจสามารถปรับปรุงการให้บริการบนแอปพลิเคชันให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์ธุรกิจได้ดีกว่าเดิม

ส่วนของการลงทุนเอไอต้องไม่เป็นเพียงแค่กระแส แต่สามารถสร้างผลกระทบต่อธุรกิจได้จริง โดยโมเดลการให้บริการเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีทางเลือกในการลงทุนได้ตามความต้องการ

พร้อมกันนี้ จัดงานอีเวนท์สัมมนาสเกลใหญ่ระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้ให้ตลาด นอกจากธุรกิจขนาดใหญ่มีการขยายฐานไปยังธุรกิจขนาดกลางและเล็กมากขึ้น พร้อมสานต่อโครงการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร และสร้างความเท่าเทียมด้วยการเปิดโอกาสให้เพศหญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น

เอดับบลิวเอสมีมุมมองว่า การให้การศึกษาอาจไม่ใช่หน้าที่ของสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว องค์กรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน ผลักดันให้มีการอัปสกิลและรีสกิล เพื่อเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เหมาะกับความต้องการใหม่ๆ ของตลาดงาน

ลงทุน ‘คลาวด์’ โตไม่หยุด

วัตสันประเมินว่า การลงทุนทางเทคโนโลยีในประเทศไทยจะยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนิ่อง โดยการเติบโตจะมีทั้งการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์สำหรับใช้บริการคลาวด์ ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรเพียง 10% เท่านั้นที่มีการใช้งานคลาวด์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รวมถึงส่วนของรายที่มีคลาวด์อยู่แล้วซึ่งจะต่อยอดไปเชิงเอไอ GenAI และการใช้ดาต้า คาดว่าทั้งองค์ขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีจะมีการใช้งานคลาวด์เพิ่มมากขึ้น เอไอจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้งานคลาวด์เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลโดยบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ภายในปี 2570 การเติบโตโดยเฉลี่ยของบริการพับบลิกคลาวด์ในประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 18.6% มูลค่าแตะ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดี 

สำหรับประเทศไทยเอดับบลิวเอสวางตำแหน่งให้เป็นด่านหน้าสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลระดับภูมิภาค รีเจียนที่จะเปิดขึ้นจะประกอบไปด้วย Availability Zone 3 แห่งเพิ่มเติมจาก Availability Zone ของเอดับบลิวเอสที่มีอยู่แล้ว 87 แห่งใน 27 ภูมิภาคทั่วโลก

รีเจียนดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญต่อการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของทั้งนักพัฒนา สตาร์ตอัป และองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร

ขณะเดียวกัน ส่งผลดีทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ได้รับมาตรการความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลเอาไว้ในไทยมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ข้อมูลของธุรกิจในไทยอาจต้องเก็บไว้ในคลาวด์ที่มีศูนย์อยู่ในต่างประเทศ