มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง ด้วย ‘Digital Transformation’

มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลง ด้วย ‘Digital Transformation’

หลายครั้งที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยผู้เชิญมีความคาดหวังว่าจะบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัล และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย

หลายครั้งที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยผู้เชิญมีความคาดหวังว่าจะบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัล และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย ด้วยความความเข้าใจว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือเรื่องของเทคโนโลยี และเกี่ยวข้องกับฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเรื่องของการ จัดหาเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ในการศึกษา นั่นก็คือผู้บรรยายก็ควรจะเป็นผู้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีไอที

แท้จริงแล้ว แก่นของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ การเปลี่ยนแปลงและเป็นเรื่องของ “กลยุทธ์” และ “การปรับเปลี่ยนแนวคิดและองค์กร” มากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี เราต้องให้ความสำคัญกับคำว่า ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือการเปลี่ยนแปลง มากกว่าคำว่า ดิจิทัล หรือเทคโนโลยีที่จะมาเป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นผู้ที่จะมาบรรยายหัวข้อนี้ได้ดี ควรเป็นผู้บริหารอุดมศึกษา หรือผู้ที่เข้าใจปัญหาในอนาคตของอุดมศึกษา ต้องเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และต้องเข้าใจบริบทอุดมศึกษาแต่ละแห่ง มากกว่าเป็นเพียงผู้ที่รอบรู้ทางเทคโนโลยี เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายถึงการใช้เทคโนโลยี แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร การดำเนินการ ยุทธศาสตร์องค์กร และอาจรวมถึงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรรูปแบบการเรียนการสอน และการปรับโครงสร้างองค์กร

ยุคที่โลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ไม่อาจหลีกหนีจากกระแสดังกล่าวได้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเห็นปัญหาในอนาคต ประเทศเราเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีประชากรวัยเรียนลดลงไปอย่างมากจนทำให้มีจำนวนผู้สนใจเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยลดลงไปเรื่อยๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้มหาวิทยาลัยจำนวนมากต้องพึ่งพาเงินรายได้ของตัวเองมากกว่าเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่เงินรายได้ที่ส่วนใหญ่มาจากการเรียนการสอนแบบเดิมเริ่มลดลง จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องจัดการ

รวมทั้งยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาของเอไอ ทำให้การผลิตบัณฑิตในหลายสาขาไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน และมีแนวโน้มว่าอาชีพหลายอย่างในอนาคตจะมีทักษะที่เปลี่ยนไป

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเติบโตขึ้นยั่งยืน ต้องหาตลาดผู้เรียนใหม่ๆ ที่อาจเป็นนักศึกษาต่างชาติ อาจต้องปรับหลักสูตรใหม่ที่มีความเป็นบูรณาการและทันสมัยมากขึ้น ต้องลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและลดความซ้ำซ้อนจากการทำงาน ต้องปรับกลุ่มผู้เรียนที่อาจไปเน้นการเพิ่มหรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับคนทำงานหรือผู้สูงวัย ที่อาจต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิตเข้าถึงกลุ่มผู้เรียนให้รวดเร็วขึ้น ทำวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคม หารายได้เข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น

เทคโนโลยีดิจิทัล จะเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเทคโนโลยีจะเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง ทำลายกำแพงทางการศึกษา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทุกคนมีสิทธิ์เรียนรู้ มหาวิทยาลัยต้องเน้นขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ใช้ข้อมูลตัดสินใจปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจความต้องการของผู้เรียน ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโลกการศึกษาไร้พรมแดน ดึงนักศึกษาต่างชาติมาเรียนในหลักสูตรต่างๆ และต้องเป็นสากลมากขึ้น และสุดท้ายมหาวิทยาลัยต้องบริหารจัดการอย่างชาญฉลาดใช้เทคโนโลยีลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร

การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในมหาวิทยาลัยมีอยู่ 2 ด้านหลัก คือ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เช่น รับนักศึกษาเข้าศึกษา ใช้ข้อมูลตัดสินใจ และอีกด้าน คือ นำเทคโนโลยีมาใช้การเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างของ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เช่น ระบบสมัครเรียนออนไลน์ ที่สะดวก รวดเร็ว ทลายขีดจำกัดทางภูมิศาสตร์ กระบวนการบริหารจัดการแบบดิจิทัล ลดเอกสาร ลดความล่าช้า เพิ่มความโปร่งใส โมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ ผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ ใช้ VR/AR สร้างประสบการณ์เสมือนจริง การปรับวิธีการสอนและเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น แชทบอทในแวดวงการศึกษา ตอบคำถาม ช่วยเหลือ ติดตามผลการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์ ใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาหลักสูตร ปรับปรุงการสอน และคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพ

การทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในสถาบันอุดมศึกษา ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สถาบันการศึกษา ภาครัฐบาล บริษัทเทคโนโลยี ผู้บริหาร บุคลากร ต้องสร้างความตระหนักให้เห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลง

ยุคนี้ไม่ใช่แค่ “สอน” แต่เป็น “สร้างแรงบันดาลใจ” ให้คนอยากเรียนรู้ และเทคโนโลยีดิจิทัล คือ เครื่องมืออันทรงพลังที่จะปลดล็อกศักยภาพการเรียนรู้ของทุกคน และเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน