’เอ็นที-OneWeb‘ลุยเน็ตผ่านดาวเทียม ปักหมุดเกตเวย์ จ.อุบลฯ เสิร์ฟอาเซียน

’เอ็นที-OneWeb‘ลุยเน็ตผ่านดาวเทียม ปักหมุดเกตเวย์ จ.อุบลฯ เสิร์ฟอาเซียน

เอ็นทีเฮ! OneWeb ได้ฤกษ์เปิดบริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำได้ครึ่งปีหลัง 67 นี้ หลังโปรเจกต์ลากยาวจากปัญหาใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์จากกสทช. สยายปีกให้บริการครอบคลุมอาเซียน

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) ของบริษัท OneWeb เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ในพื้นที่สถานีดาวเทียมสิรินธร อุบลราชธานี ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย 100% แล้ว หลังจากที่มีการติดขัดเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์บางประเภทจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช.

โดยหลังจากดำเนินการจัดสร้างสถานีเกตเวย์สำหรับ OneWeb จะใช้เป็นสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดินทำหน้าที่บริหารจัดการเครือข่ายดาวเทียม OneWeb ซึ่งมีเป้าหมายให้บริการเครือข่ายสื่อสารผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลก และเป้าหมายให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมราว 1 ปี 

เขา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีดาวเทียมนนทบุรี จ.นนทบุรี, สถานีดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี และ สถานีดาวเทียมสิรินธร จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ เอ็นทียังได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการและควบคุมดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ที่สถานีดาวเทียมไทยคม นนทบุรี  หลังจากที่บมจ.ไทยคม สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับภาครัฐไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เดิมเอ็นทีได้เริ่มโครงการก่อสร้างสถานีเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ภายใต้โครงการ “OneWeb Satellite Network Portal Site Hosting Services” ในบริเวณสถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จานสายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ  

“ดาวเทียม OneWeb ด้วยคุณภาพบริการที่ระดับ SLA ไม่น้อยกว่า 99.99% มุ่งเน้นการจัดหาวิศวกรรมระบบขั้นสูงและบริการด้านเทคนิคตามมาตรฐานเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำผ่านการทำงานร่วมกับทีมวิศวกรของ OneWeb อย่างใกล้ชิดในทุกด้าน ซึ่งตามแผนการให้บริการของ OneWeb ที่ปัจจุบันได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้ว 428 ดวง หรือ 66% ของกลุ่มดาวทั้งหมด 648 ดวงซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั่วโลก คาดว่าการปล่อยดาวเทียมที่เหลือจะเสร็จสิ้นในปีนี้”

สถานีเกตเวย์ดังกล่าวของ OneWeb ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร เป็นหนึ่งในจำนวนกว่า 40 เกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับสถานีเกตเวย์ของ OneWeb ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยร่วมกันเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมหลายดวงในเครือข่าย รองรับภารกิจสำคัญในการสร้างระบบการติดต่อสื่อสารไร้ขีดจำกัด

เขา กล่าวอีกว่า นอกจากเอ็นทีจะมีสถานีเกตเวย์สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำได้เข้าร่วมการประมูลซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและนโยบายคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ โดย เอ็นทีได้รับสิทธิ์ 1 วงโคจรคือ วงโคจรชุดที่ 4 ( 126E ) ซึ่งสามารถให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ในราคา 9.076 ล้านบาท ขณะที่ยังสามารถคงสิทธิ์ความจุ 400 Mbps และสิทธิ์ในการบริหารจัดการช่องสัญญาณดาวเทียมในวงโคจร 119.5E ของภาครัฐไว้ (ซึ่ง กสทช. จะกำหนดต่อไปว่าเป็นหน่วยงานใดเป็นผู้บริหารความจุ 400Mbps ต่อไป) 

สำหรับวงโคจร 126E ที่ประมูลได้นี้จะทำให้เอ็นทีเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดาวเทียมได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งทางเทคโนโลยี และบุคลากรเป็นการส่งเสริมกิจการอวกาศ และเป็นการรักษาวงโคจรของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดของเอ็นทีที่เพิ่มการจัดตั้งสายงานดาวเทียมและโครงข่าย เพื่อดำเนินภารกิจด้านดาวเทียม ทั้งการบริหารจัดการและการสนับสนุนการขาย บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม เกตเวย์และสถานีภาคพื้นดิน รองรับการก้าวสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรรอบโลกระดับต่ำและดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO) โดยจะส่งผลให้การให้โครงข่ายโทรคมนาคมของเอ็นทีมีทั้งทางภาคพื้นดิน ใต้น้ำ และในอวกาศ