ส่องผลกระทบ 'GenAI' ปี 67 เขย่าแนวคิด ‘ผู้นำ ผู้บริหาร’ทุกมิติ

ส่องผลกระทบ 'GenAI' ปี 67 เขย่าแนวคิด ‘ผู้นำ ผู้บริหาร’ทุกมิติ

การมาของ ‘เจเนเรทีฟ เอไอ’ (Generative AI : GenAI) ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับตัว ผู้นำและผู้บริหารต้องเปลี่ยนแนวคิดในทุกมิติ พร้อมกลยุทธ์การสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้เพื่อพร้อมรับมือกับอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

‘แดริล พลัมเมอร์’ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ บอกว่า GenAI ให้โอกาสเราในการบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยซีไอโอ และผู้บริหารอื่นในองค์กร จะยอมรับความเสี่ยงของการนำ GenAI มาใช้เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“ปีนี้เป็นปีเต็ม ๆ ปีแรกที่ GenAI เป็นหัวใจสำคัญของทุกการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนผ่านเทคโนโลยีอื่นๆ โดย GenAI ยังทลายกรอบเดิมๆ และสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ”

‘เอไอ’ บ่งชี้การเติบโตทางศก.

ปี 2570 มูลค่าและประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ผลงานจาก เอไอ จะได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยบ่งชี้การเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

การ์ทเนอร์ ระบุว่า รัฐบาลหลายประเทศมีความมุ่งมั่นและกำลังจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์และแผนงานด้าน เอไอ โดยยอมรับว่า เอไอ กลายเป็นเทคโนโลยีหลักของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการรวมเอไอไว้ในการวางแผนระยะยาวระดับชาติกำลังได้รับแรงหนุนจากการออกกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมแนวคิดริเริ่มด้านเอไอ

“การนำ เอไอ มาไว้ในแผนพัฒนาระดับชาติจะทำให้ เอไอ มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และกลายเป็นตัวเร่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล"

ปี 2570 เครื่องมือ GenAI ต่างๆ จะถูกนำไปใช้ เพื่ออธิบายการทำงานของแอปพลิเคชันทางธุรกิจแบบเดิมและทำงานทดแทนได้อย่างเหมาะสม ช่วยลดต้นทุนของการปรับให้ทันสมัยลงถึง 70%

ส่องผลกระทบ \'GenAI\' ปี 67 เขย่าแนวคิด ‘ผู้นำ ผู้บริหาร’ทุกมิติ

ขณะที่ ภายในปี 2571 องค์กรธุรกิจจะใช้เงินมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปกับการรับมือกับข้อมูลอันตรายต่าง ๆ โดยแบ่งงบประมาณการตลาด และความปลอดภัยทางไซเบอร์ 10% เพื่อสู้กับภัยคุกคามรอบด้าน

ข้อมูลที่สร้างความเสียหายเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อกลไกการตัดสินใจของมนุษย์และเครื่องจักร และอาจตรวจจับและปิดระบบได้ยากยิ่ง ข้อมูลนี้จัดเป็นภัยคุกคามการทำงานที่แตกต่างกันสามส่วนด้วยกัน คือ งานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้านการตลาด และด้านเอไอ

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ GenAI กระตุ้นให้หน่วยงานกำกับดูแลรวมข้อมูลพวกนี้ไว้เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับพลังและความพร้อมที่มีมากขึ้นของ GenAI กับผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งองค์กรที่เฝ้าระวังผู้หวังร้าย ติดตามหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงผู้ให้บริการเครื่องมือและเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับข้อมูลอันตรายนี้ มีแนวโน้มที่จะได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาก

ปี 2570 ผู้บริหารระดับสูงด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล (Chief Information Security Officers หรือ CISO) ประมาณ 45% จะเพิ่มขอบเขตการทำงานนอกเหนือจากความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากแรงกดดันด้านกฎระเบียบและการขยายพื้นที่โจมตีเพิ่มมากขึ้น

GenAI สะเทือนทักษะพนง.องค์กร

การ์ทเนอร์ ประเมินว่า ปี 2571 อัตราการทำงานในรูปแบบสหภาพ ของพนักงานที่มีทักษะจะเพิ่มขึ้น 1,000% โดยได้แรงกระตุ้นจากการนำ GenAI มาปรับใช้ในการทำงาน

ผู้บริหารมักบอกว่าเอไอ เป็นเหตุให้ต้องปรับลดตำแหน่งงาน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารต้องสื่อสารชัดเจนกับพนักงานถึงความตั้งใจในการนำ เอไอ มาปรับใช้ภายในองค์กร ซึ่งแนวทางนี้จะหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสร้างความวิตกกังวลของเอไอในหมู่พนักงาน

โดยองค์กรที่ใช้ GenAI และไม่วางแผนจัดการกับความกังวลด้าน เอไออย่างชัดเจนกับพนักงานที่มีทักษะ จะต้องเผชิญกับอัตราการลาออกเพิ่มสูงขึ้น 20%

“องค์กรควรให้ความสำคัญกับความพยายามในการนำ เอไอ มาเสริมประสิทธิภาพและคุณภาพการทำงานของพนักงานมากกว่านำมาใช้เป็นระบบอัตโนมัติ ผู้บริหารต้องเข้าใจสิ่งที่เทคโนโลยีสามารถทำได้และทำไม่ได้ เนื่องจากยังมีการโอ้อวดประสิทธิภาพ เอไอ เกินจริง ที่ไปสร้างความคาดหวังให้กับบอร์ดผู้บริหาร”

การ์ทเนอร์ ระบุว่า ปี 2569 พนักงาน 30% จะใช้ประสิทธิภาพของตัวชี้วัดความสามารถด้านดิจิทัล หรือ Digital Charisma Filter เพื่อบรรลุความก้าวหน้าในอาชีพจากที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

Digital Charisma Filter จะแจ้งเตือนและกรองการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางสังคมมากขึ้น ตามสถานการณ์ที่หลากหลาย ทั้งการเตือนก่อนและหลังเพื่อทำให้การโต้ตอบสื่อสารมีประสิทธิภาพแก่ผู้บริหารและผู้ร่วมงานในสถานการณ์ทางสังคมที่พวกเขาต้องการความแม่นยำ Digital Charisma Filter จะปรับปรุงความสามารถองค์กรในการขยายการจ้างงานครอบคลุมพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ทักษะหลากหลายด้านระบบประสาท

การ์ทเนอร์ ยังคาดการณ์ด้วยว่า ภายในปี 2570 ราว 25% ของบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 จะรับบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านระบบประสาท หรือ Neurodivergent Talent มาร่วมงาน อาทิ บุคคลออทิสติก บุคคลสมาธิสั้น และบุคคลดิลเล็กเซีย เพื่อพัฒนาผลการดำเนินงานของธุรกิจ

“องค์กรธุรกิจที่ว่าจ้างและรักษาบุคลากร Neurodivergent Talent จะได้ประสบการณ์การมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงมีผลิตผลและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งองค์กร” พลัมเมอร์ กล่าว

ขณะที่ ปี 2569 บริษัทขนาดใหญ่ 30% จะมีหน่วยธุรกิจหรือช่องทางการขายเฉพาะเพื่อเข้าถึงตลาด Machine Customer หรือ ลูกค้าที่ไม่ใช่มนุษย์ แต่มีความสามารถในการเจรจา ซื้อสินค้าและบริการได้โดยอัตโนมัติจะเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่ง Machine Customer จะบังคับให้เกิดการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันหลัก ๆ อาทิ ห่วงโซ่อุปทาน การขาย การตลาด การบริการลูกค้า การค้าดิจิทัล และประสบการณ์ของลูกค้า และภายในปี 2568 ศูนย์การขายและบริการมากกว่า 25% ในองค์กรขนาดใหญ่จะได้รับการติดต่อจาก Machine Customer

“Machine Customer จะต้องการช่องทางการขายและบริการเป็นของตน เนื่องด้วยลูกค้าประเภทนี้จะทำธุรกรรมด้วยความเร็วสูง และมีปริมาณตัวแปรของการตัดสินใจที่สูงเกินขีดความสามารถมนุษย์อย่างมาก Machine Customer จะต้องการพนักงานที่มีทักษะความสามารถ และมีกระบวนการรับมือที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในแผนกดูแลกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์”

ปี71แรงงานหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์

มีการประเมินว่า ปี 2571 จะมีหุ่นยนต์อัจฉริยะมากกว่ามนุษย์ปฏิบัติงานในสายการผลิต ค้าปลีก และลอจิสติกส์ เนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงาน

บริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก และโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ไม่สามารถค้นหา หรือรักษาบุคลากรไว้เพียงพอเพื่อรองรับการดำเนินงานแต่ละวัน ทำให้ในทศวรรษหน้าองค์กรด้านซัพพลายเชน จะประสบปัญหาในการสรรหาพนักงานให้เพียงพอ ซึ่งหุ่นยนต์จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวนี้

การสำรวจของการ์ทเนอร์เดือนธันวาคม 2565 พบว่า 96% ของผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีซัพพลายเชนได้ปรับใช้หรือวางแผนที่จะปรับใช้ระบบอัตโนมัติทางกายภาพไซเบอร์ หรือ Cyber-Physical Automation และ 35% ได้นำหุ่นยนต์มาใช้งานแล้ว โดย 61% ยังอยู่ในขั้นทดลองหรืออยู่ระหว่างการใช้งานหุ่นยนต์เป็นครั้งแรก

“เทคโนโลยีหุ่นยนต์กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถทำงานในระดับปฏิบัติการได้ในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่โรงงาน คลังสินค้า ไปจนถึงร้านค้าปลีก และอื่น ๆ อีกมากมาย” พลัมเมอร์ กล่าว