‘สกมช.’ ร่ายแผนงานปี‘67 ปั้นนักรบไซเบอร์เพิ่มหมื่นราย

‘สกมช.’ ร่ายแผนงานปี‘67 ปั้นนักรบไซเบอร์เพิ่มหมื่นราย

แก้ปัญหาขาดแคลนบุลคากรขาดแคลน จับมือกับสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรติวเข้ม พร้อมประสาน กระทรวงแรงงานเปิดรับคนที่จบแล้วยังว่างงานมาอัพสกิล ตั้งเป้าสร้างนักรบไซเบอร์อีกหมื่นคนในปี 2567 นี้

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)  เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ สกมช.มีแผนพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จำนวน 1 หมื่นคน ให้เป็นนักรบไซเบอร์ช่วยงานของภาครัฐ  โดยจะร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ มากกว่า 20 แห่ง เปิดหลักสูตรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับนักศึกษาเข้ามาเรียนในสถาบันต่างๆ โดยในปีนี้ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกทั้งของรัฐและเอกชน นอกจากนี้จะมีการร่วมมือกับ กระทรวงแรงงาน และบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ สนับสนุนให้กลุ่มคนว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ในสาขาต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มทักษะ (อัพสกิล) และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตรไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เพื่อเข้ามาทำงานด้านนี้ ซึ่งกำลังขาดแคลนจำนวนมาก

“ไทยยังขาดแคลนคนที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ จำนวนมาก โดยเฉพาะในองค์กรของรัฐ ซึ่งจากสถิติที่สำรวจ พบว่า ข้าราชการพลเรือนจำนวน 460,000 คน เป็นบุคลากรที่ทำงานรับผิดชอบด้านไอทีเพียง 0.5%  เท่านั้น"

อีกทั้ง บุคลากรกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้จบด้านไซเบอร์ฯ โดยตรงทั้งหมดด้วย แต่ต้องรับผิดชอบงาน เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ตั้งแต่การ ซ่อมแซมเครื่อง ดูแลเว็บไซต์ และระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ ด้วยจำนวนคนที่น้อย แต่ปริมาณงานที่มาก จึงส่งผลถึงศักยภาพในการดูแลความปลอดภัย และมีความเสี่ยงในการถูกโจมตีหรือแฮกข้อมูลได้ง่าย

พล.อ.ต.อมร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีการประสานกับสถานประกอบการ องค์กรต่างๆ  เข้ามาร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ที่เปิดหลักสูตรด้านนี้ ให้รับนักศึกษาไปฝึกงาน โดยมีบริษัทด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้  สนับสนุนแล็ปให้นักศึกษาได้การ ทดลอง เพื่อให้มีทักษะพร้อมทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน คลาว์ด ซีเคียวริตี้ เพื่อรองรับนโยบาย โก คลาว์ด เฟิรส์ ของรัฐบาล และเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจสามารถเข้ามาทำงานด้านนี้

รวมถึงสกมช.จะช่วยในการหาทุนการศึกษา สนับสนุน สำหรับคนที่ขาดแคลน หรือมีช่องทางเงินให้กู้ยืมเรียน จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น พร้อมสร้างความมั่นใจ ให้กับนักศึกษาที่เข้ามาเรียนด้านนี้ว่าจบแล้วจะมีงานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้รองรับให้เข้าทำงานอย่างแน่นอน

เขา เสริมว่า ที่ผ่านมาสกมช.ได้ ผลักดันการพัฒนาทักษะด้านไซเบอร์ให้กับคนไทย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ให้มีองค์ความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งมีการประสานงานเครือข่ายเพื่อบูรณาการ
ยกระดับบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้มีขีดความสามารถในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากร รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆ 
เพื่อพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยมียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 ล้านคน จำนวนชั่วโมงการอบรมมากกว่า 2,000,000 ชั่วโมง