กสทช.รับลูกรัฐดัน ’ซอฟต์พาวเวอร์‘ ชงร่างฯประกาศดึงเงินหนุน 200 ล้านบ.

กสทช.รับลูกรัฐดัน ’ซอฟต์พาวเวอร์‘ ชงร่างฯประกาศดึงเงินหนุน 200 ล้านบ.

กสทช. เอาด้วยเร่งดัน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ลงลึกระดับท้องถิ่น-ยกร่างฯประกาศเงินอุดหนุนจาก กทปส.กว่า 200 ล้านบาท ช่วยผู้ลิต พร้อมเสนอตัวเป็นกลางจัดทำแพลตฟอร์มสตีมมิ่งแห่งชาติ บูรณาการเนื้อหาจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคให้อยู่ในระบบเดียวกัน

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับซอฟต์เพาเวอร์ และได้ศึกษาแผนการทำงานซอฟต์พาวเวอร์ สนับสนุนอุตสาหกรรม 11 ด้าน ด้วยงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ซึ่งใช้งบสูงสุดในอุตสาหกรรมเฟสติวัลที่ 1,900 ล้านบาท สาขาอาหาร 1,000 ล้านบาท ขณะที่สาขาภาพยนตร์ รวมถึงซีรี่ย์มีงบ 545 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ค่อยสูงเท่าใดเพราะถ้าพิจารณาถึงการผลิตซีรี่ย์ที่มีความยาวและใช้ต้นทุนในการผลิตสูง

ดังนั้น ด้านภาพยนตร์จึงมีผลต่อการลงทุน เพราะผลที่จะได้รับตามมาในเชิงซอฟต์พาวเวอร์ก็มีมูลค่าสูงตามเนื้อหาที่ถ่ายทำและความสนใจของผู้รับชม ขณะเดียวกัน กสทช.ก็มีการสนับสนุนสอดคล้องนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ โดยจะเน้นเรื่องรายการเกี่ยวกับการกระจายเสียงผ่านสื่อโทรทัศน์เป็นหลัก จากการสนับสนุนการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมีแนวทางการสนับสนุนรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รายการเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศ 

ซึ่ง กสทช.ได้จัดทำและเสนอ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52) ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว เข้าบรรจุวาระที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 

แต่ต่อมาศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป 

และในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ทางสำนักงาน กสทช. ได้มีบันทึกข้อความแจ้งความคืบหน้า ตอบกลับไปถึงประธาน กสทช. ว่าการพิจารณาร่างประกาศฯ ของ กสทช. คณะอนุกรรมการ และในเวทีการรับฟังความเห็นสาธารณะที่ผ่านมา ไม่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับฐานอำนาจในการจัดสรรเงิน กทปส. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาก่อน ดังนั้น กระบวนการจัดทำร่างประกาศฯ จึงเป็นไปตามหลักการที่ กสทช. มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 แล้ว 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประธาน กสทช. มีข้อสั่งการท้ายบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2304/2140 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนในการสนับสนุนตามร่างประกาศ ขณะที่อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่และการแต่งตั้งใหม่ยังไม่เรียบร้อย ส่งผลให้ปัจจุบัน สำนักงานฯ ยังไม่สามารถเสนอเรื่องต่อที่ประชุม กสทช. ได้ และทำให้ระยะเวลาการจัดทำร่างประกาศฯ ต้องทอดยาวออกไป และไม่อาจบังคับใช้ร่างประกาศฯ ได้ทันภายในปี 2566  

“ตรงนี้จึงได้มองถึงว่าไม่ใช่เรื่องของการส่งออกซอฟต์พาวเวอร์อย่างเดียวแต่เป็นการเสริมแรงให้อุตสาหกรรมของผู้ผลิตในระดับท้องถิ่น ในเรื่องเอกลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมเรื่องเด็กและเยาวชน ซึ่งน่าเสียดายถ้าหลักเกณฑ์ (ร่าง) ติดปัญหาเทคนิคเรื่องชื่อกองทุนฯ ไม่ตรงกับการสนับสนุนงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตามจะเดินหน้าต่อไป อาจจะติดอุปสรรคล่าช้าการประกาศร่างฯเท่านั้น ซึ่งมีงบที่ค้างท่ออยู่ราว 200 ล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้ได้” น.ส.พิรงรองกล่าว

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ การพิจารณานำโอทีทีที่ให้บริการแพร่ภาพและกระจายเสียงเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล ได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลโอทีทีดังกล่าวเรียบร้อยแล้วโดยเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น (light touch) ขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างประกาศนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่ภายหลังจากที่เสนอเพื่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ในเดือนตุลาคม ประธาน กสทช. ได้มีบันทึกลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ไม่บรรจุวาระการขอความเห็นชอบให้นำไปรับฟังความคิดเห็น โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามในร่างประกาศ และขั้นตอนในการประสานงานเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย 

ทั้งนี้ เธอได้ชี้แจงถึงการกำหนดนิยาม และชี้แจงอย่างชัดเจนว่าได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนจากสานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แล้วในทุกขั้นตอน ซึ่งขั้นต่อไปคือการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ในระหว่างนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตจึงต้องไปแจ้งข้อมูลกับ ETDA ไปก่อน  

นอกจากนี้ กสทช. ได้ริเริ่มและเป็นตัวกลาง (facilitate) ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับชาติ (National Streaming Platform) ที่จะบูรณาการเนื้อหาจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคให้อยู่ในระบบเดียวกัน ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณาแห่งประเทศ ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม และผู้ผลิตสมาร์ททีวี และได้เสนอให้มีโครงการต้นแบบศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในเรื่องนี้โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาบริการพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO (Universal Service Obligation) ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์