‘รัฐบาลไทย’ สานต่อความร่วมมือ ‘กูเกิล’ ปลดล็อกเศรษฐกิจเอไอ 2.6 ล้านล้านบาท

‘รัฐบาลไทย’ สานต่อความร่วมมือ ‘กูเกิล’ ปลดล็อกเศรษฐกิจเอไอ 2.6 ล้านล้านบาท

"เศรษฐา" เปิดความคืบหน้าล่าสุด ความร่วมมือบิ๊กเทคโนโลยี “กูเกิล” เร่งเครื่องนโยบาย “Cloud-First” เอไอ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ “กูเกิล” เผยนวัตกรรมเอไอสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน “Digital Samart Thailand”   อีเวนท์ใหญ่ประจำปีของกูเกิล ประเทศไทย ว่า หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย

เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่ไ่ด้ร่วมมือกับ Google ซึ่งตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน รายละเอียดจะประกาศเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

เรื่องที่สอง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Framework) โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. (National Cyber Security Committee: NCSC) จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้

เรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจเอไอยุคใหม่

หลังจากนี้ รัฐบาลไทยกับกูเกิลจะทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบายรวมถึงกฏระเบียบที่เอื้อต่อการปรับใช้เทคโนโลยี

 หนุนรัฐบาลไทยสู่ ‘Cloud First’

นายคาราน บาวา รองประธาน ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กูเกิล คลาวด์ เผยว่า กูเกิลร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย “Go Cloud First” เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้นสำหรับองค์กรต่างๆ ในการเข้าถึงความสามารถเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

“เราได้แนะนำนโยบาย National Cloud First ให้กับรัฐบาลไทย เพื่อช่วยให้เกิดการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะเอไออย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของประเทศ”

ล่าสุด Google Cloud ประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI กับ 3 หน่วยงานคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงคมนาคม, และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute: BDI) โดยบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้จะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างโดยใช้เทคโนโลยี Generative AI

รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง และด้วยแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่างๆ สามารถเลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้งของ Google และแบบโอเพนซอร์สกว่า 100 โมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเองโดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ และผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กรเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น

‘รัฐบาลไทย’ สานต่อความร่วมมือ ‘กูเกิล’ ปลดล็อกเศรษฐกิจเอไอ 2.6 ล้านล้านบาท ผลวิจัยโดย “กูเกิล” พบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรมเอไอมาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิมนั้นยังขาดความสามารถในการปรับขนาดและความยืดหยุ่นเพื่อรองรับความต้องการด้านเอไอที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความสามารถของเทคโนโลยี “Cloud AI” ที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับองค์กรโดยเฉพาะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

ปักธง 4 เสาหลักยกระดับดิจิทัลไทย

นางแจ็คกี้ หวัง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ประกอบด้วย ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) ความร่วมมือด้าน Generative AI (Gen AI) กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ และการมอบทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน

โดยโครงการริเริ่มทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ 4 เสาหลักระหว่าง Google และรัฐบาลไทยเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งได้แก่ การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล, การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy), การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ, และการทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

กูเกิลเผยว่า การที่ธุรกิจต่างๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565 ทั้งยังส่งผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ร้บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง

สำหรับกูเกิลยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อพันธกิจ “Leave No Thai Behind” ช่วยยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมให้ประเทศไทยเติบโตในเศรษฐกิจ AI