ไม่ทิ้งคนจนเมือง! กสทช.ผุดเน็ตสลัม-ไวไฟตำบลช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล

ไม่ทิ้งคนจนเมือง! กสทช.ผุดเน็ตสลัม-ไวไฟตำบลช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล

กสทช.ลุยอุดช่องโหว่คนจนเมือง ผุดเน็ตชุมชนแออัด-ไวไฟตำบล เร่งถกกทม.หาตัวเลขผู้มีรายได้น้อย-เปราะบาง พร้อมบรรจุเข้าประกาศฯยูโซ่ 4 ตามแผนแม่บทโทรคมฯ ใหม่ ชงมาตรการช่วยเหลือ พร้อมกรุยทางทำโรดแมป 4 คลื่นความถี่ เตรียมประมูลปี‘69 ยกไพรเวท 5G ภาคอุตฯงานเร่งด่วน

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังตนอยู่ระหว่างจัดทำ
ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือ USO ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566)

เพื่อดำเนินงานในการขับเคลื่อนการออกประกาศที่มีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปและเกี่ยวข้องกับการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ความหมายของบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน

2.ความเหมาะสมของของการกำหนดยุทธศาสตร์ภายใต้แผน USO ฉบับที่ 4

3. การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO

และ 4.การใช้จ่ายเงินตามแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนด

ไม่ทิ้งคนจนเมือง! กสทช.ผุดเน็ตสลัม-ไวไฟตำบลช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล

ทั้งนี้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ในการกำหนดแผนการ USO ครอบคลุมทั้งในมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ หน่วยบริการประชาชนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม 

โดยกสทช.กำลังคุยกับกรุงเทพมหานครเพื่อสรุปตัวเลขกลุ่มผู้มีรายได้และกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและตามหัวเมืองใหญ่ลงลึกถึงตำบล ซึ่งจะนำมาหาแนวทางมาตรการช่วยเหลือให้ลดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล โดยจะบรรจุความช่วยเหลือในแผน USO 4 ในร่างแผนแม่บทโทรคมนาคม (แผน 3) และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (แผน 4) ซึ่งจะเริ่มใช้งานปี 2567

“เรามีแนวคิดทำเน็ตสลัมและไวไฟตำบล เพื่อช่วยคนจนเมือง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่อาศัยในชุมชนแออัดถือเป็นกลุ่มเปราะบางในจำนวนนี้มีทั้งเด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา และกลุ่มคนทำงานที่มีรายได้ไม่มากนัก ดังนั้น ต้องมาคุยกันว่ากสทช.และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะช่วยเหลืออย่างไร”

เขา กล่าวว่า สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ในส่วนกสทช.ด้านโทรคมนาคมต้องเร่งดำเนินการในปีหน้า คือ การผลักดันให้เกิด 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยปัจจุบันได้หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. สภาอุตสาหกรรมฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในการนำคลื่นความถี่ 3500 MHz จำนวน 100 MHz ช่วงคลื่น 3600 MHz-3700 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่มีประมาณ 400 MHz

เพื่อนำมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมประมูลทำไพรเวท เน็ตเวิร์ก 5G คาดว่าหากผลการศึกษาพบว่ามีความต้องการของตลาด และมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลก็จะส่งผลการศึกษา และผลการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้กสทช.ศึกษาถึงแนวทางในการประมูลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณา หากมีความเห็นชอบร่วมกัน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 - ต้นปี 2568

สำหรับสาเหตุที่กสทช.เร่งดำเนินการโรดแมปดังกล่าว เนื่องจาก ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรม โทรคมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการความชัดเจนของแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทยในระยะ 2-5 ปี ข้างหน้าว่าสำนักงาน กสทช.มีแผนจะจัดสรรคลื่นอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคต รวมถึงงบประมาณที่ต้องวางแผนล่วงหน้าด้วย 

นายสมภพ กล่าวว่า ในปี 2568 มีคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานในย่าน 850 2100 และ 2300 MHz ที่จะหมดสัมปทานที่เอกชนทำไว้กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที ซึ่งกสทช.ต้องมาดูว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้อย่างไรบ้าง หรือเอกชนมีความสนใจจะใช้งานต่ออย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนขยายโครงข่ายไปจำนวนมากก็อาจจะนำออกมา ประมูลต่อส่วนคลื่นความถี่ 3500 MHz ที่มีอยู่ประมาณ 400 MHz นั้น

ได้มีแนวทางในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการดังกล่าว คาดว่าจะใช้กรอบระยะการทำงาน 2 ปี เพื่อศึกษาปริมาณคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ที่สามารถนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม และแนวทางเตรียมความพร้อมของคลื่นความถี่ก่อนที่จะนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม

นอกจากนี้ คณะทำงานจะศึกษาความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับการเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ รวมถึงการศึกษาและจัดทำโรดแมป การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และการกำหนดรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับทั้งภาคอุตสาหกรรมและสำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่