เตรียมพร้อมอนาคต คาดการณ์ แนวโน้มเทคโนโลยี 2024 (ตอนที่ 2)

เตรียมพร้อมอนาคต คาดการณ์ แนวโน้มเทคโนโลยี 2024 (ตอนที่ 2)

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนบทความเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี ที่เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2024 ของ การ์ทเนอร์ โดยได้กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยี 5 ด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเอไอ สัปดาห์นี้จึงขอนำเสนอเทคโนโลยีอีก 5 ด้านที่เหลือ

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนบทความเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี ที่เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2024 ของ การ์ทเนอร์ โดยได้กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยี 5 ด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเอไอ สัปดาห์นี้จึงขอนำเสนอเทคโนโลยีอีก 5 ด้านที่เหลือ

6. Continuous Threat Exposure Management (CTEM) เป็นกระบวนการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถประเมินความสามารถในการเข้าถึงความเสี่ยงจากการถูกเปิดเผยและการถูกใช้ประโยชน์ของระบบเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ การประเมินและการแก้ไขตาม CTEM ที่ปรับให้เข้ากับภัยคุกคามหรือโครงการด้านธุรกิจต่างๆ แทนที่จะพิจารณาป้องกันเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักจะช่วยให้องค์กรสามารถเห็นช่องโหว่และภัยคุกคามต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

โดยในปี 2026 การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านความปลอดภัยตามโปรแกรม CTEM จะสามารถลดการเกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้ถึงสองในสามเท่า

7. Machine Customers หรือที่ การ์ทเนอร์ เรียกว่า ‘custobots’ คือลูกค้าที่มาจากระบบอัตโนมัติ ที่จะตัดสินใจและต่อรองการซื้อสินค้าแทนมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากระบบปัจจุบันที่คนยังเป็นผู้เลือกและต่อรองการซื้อขายเองโดยมีระบบ AI เป็นเครื่องมือช่วย ระบบ Custobot จะนำการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมๆ เพราะสินค้าจะถูกสั่งซื้อมาเองอัตโนมัติ

การ์ทเนอร์ คาดว่าภายในปี 2028 จะมีอุปกรณ์ IoT ถึง 15 พันล้านชิ้น เช่น กล้องอัจฉริยะ รถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อ และนาฬิกาอัจฉริยะ ที่จะมีศักยภาพทำหน้าที่เป็นลูกค้าแบบนี้ และจะมีเพิ่มขึ้นหลายพันล้านชิ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แนวโน้มนี้อาจเป็นแหล่งรายได้หลายล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030

8. Sustainable Technology เป็นกรอบการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) เพื่อสนับสนุนสมดุลทางนิเวศวิทยาในระยะยาว การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ไอไอ สกุลเงินคริปโทฯ ไอโอที และคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดแนวโน้มที่การใช้ทรัพยากรด้านไอที ต้องมีประสิทธิภาพ, มีการหมุนเวียน, และยั่งยืนมากขึ้น

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรใหญ่ประมาณ 25% จะมีตัวชี้วัดผลกระทบที่ถูกเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

9. Platform Engineering เป็นกระบวนการพัฒนาโซลูชันในองค์กรด้วยตัวเองโดยใช้แพลตฟอร์มที่แบ่งเป็นชั้น แต่ละชั้นจะมีซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ การพัฒนาโซลูชันจึงคล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในแต่ละแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน จุดประสงค์ของ Platform Engineering คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ และเร่งการส่งมอบโซลูชันได้รวดเร็วขึ้น

10.Industry Cloud Platforms (ICPs) คือการใช้แพลตฟอร์มที่เป็นระบบคลาวด์คอมพิวติ้งในการพัฒนาโซลูชันโดยใช้บริการต่างๆ เช่น IaaS, PaaS และ SaaS ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ในองค์กรซึ่งจะทำได้รวดเร็ว และสามารถใช้แพลตฟอร์มบนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งจากหลายๆ ค่ายได้

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 มากกว่า 70% ขององค์กรจะใช้ ICPs ในการพัฒนาโซลูชันในการดำเนินธุรกิจจากที่เคยมีน้อยกว่า 15% ในปัจจุบัน ICPs ถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการขององค์กรแต่ละแห่งได้

แนวโน้มเทคโนโลยีที่ การ์ทเนอร์ คาดการณ์ไว้ทั้ง 10 ด้าน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางองค์กรในประเทศไทย แต่การศึกษากลยุทธ์ทั้ง 10 ด้านของ Gartner ยังคงมีความจำเป็นอย่างมาก ในการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีไอที เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมและช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

ในปีหน้าน่าจะเป็นปีที่เทคโนโลยี เช่น Generative AI และ AI จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างไร และควรพิจารณาทั้งข้อดีและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย

สิ่งที่สำคัญคือการที่แต่ละองค์กรจะนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความท้าทายเฉพาะของตนเอง การที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลนี้ไม่เพียงแต่ต้องการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ยังต้องการวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและความสามารถในการปรับตัวเพื่อเอาชนะความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกองค์กรควรพิจารณาว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างไร เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปในอนาคตที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและการเติบโตที่ยั่งยืน