‘ยักษ์ไอที’ ไต้หวันบุกไทย ชิงเค้กธุรกิจคลาวด์ 5 หมื่นล้าน

‘ยักษ์ไอที’ ไต้หวันบุกไทย ชิงเค้กธุรกิจคลาวด์ 5 หมื่นล้าน

GWS CLOUD ยักษ์คลาวด์จากไต้หวัน ลุยขยายธุรกิจในไทย ชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจคลาวด์ไทย 5 หมื่นล้านขนทัพเทคโนโลยีเด่นจากไต้หวัน ครอบคลุมโซลูชั่นทั้ง พับบลิค-ไพรเวท-ไฮบริด คลาวด์รายแรกในไทย เจาะกลุ่มสตาร์ตอัปเอสเอ็มอี

“จีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์" ยักษ์คลาวด์จากไต้หวัน ผนึก “ซูเปอร์แนป” ลุยขยายธุรกิจในไทย ชิงส่วนแบ่งตลาดธุรกิจคลาวด์ไทย 5 หมื่นล้านขนทัพเทคโนโลยีเด่นจากไต้หวัน ครอบคลุมโซลูชั่นทั้ง พับบลิค-ไพรเวท-ไฮบริด คลาวด์รายแรกในไทย เจาะกลุ่มสตาร์ตอัปเอสเอ็มอีองค์กรที่ไม่เคยใช้คลาวด์เปลี่ยนผ่านสู่ยุค เอไอ คลาวด์

‘นีนี่ วู’ ประธานกรรมการ บริษัท จีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์ จำกัด หรือ GWS CLOUD ผู้นำธุรกิจคลาวด์จากไต้หวัน กล่าวว่าตลาดธุรกิจบริการคลาวด์ในไทย นับเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของ การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า บริการคลาวด์บนเครือข่ายสาธารณะ (Public Cloud) ในไทยจะเติบโตถึงราว 31.7% ในปี 2566 มีมูลค่า 5.48 หมื่นล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

จีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์ จับมือกับ ซูเปอร์แนป ประเทศไทยผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สุดในอาเซียน ร่วมขยายธุรกิจบริการคลาวด์ในไทย เพื่อส่งมอบบริการคลาวด์คุณภาพ มีความปลอดภัยสูง โดยทีมงานมืออาชีพ สู่ภาคธุรกิจในไทย

‘ยักษ์ไอที’ ไต้หวันบุกไทย ชิงเค้กธุรกิจคลาวด์ 5 หมื่นล้าน

ชี้ไทยเปลี่ยนผ่านดิจิทัลสูง

ผู้บริหารจีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์ ให้ข้อมูลว่า บริษัทเห็นหลากหลายปัจจัยบวก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย เริ่มจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาใช้บริการคลาวด์เพื่อเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมมากขึ้น ขณะที่องค์กรธุรกิจใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล หรือดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการข้อมูล และประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เช่น ที่ธนาคารยักษ์ใหญ่ของไทยเพิ่งประกาศลงทุนย้ายระบบขึ้นคลาวด์เมื่อเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ธุรกิจยังให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลมากขึ้นเมื่อทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญกับเทคโนโลยีคลาวด์ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่งผลให้ไทยถือเป็นประเทศสำคัญที่จะมีความต้องการบริการคลาวด์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมนำเทคโนโลยีและบริการประสิทธิภาพสูงจากไต้หวัน ครอบคลุมทั้งบริการคลาวด์บนเครือข่ายสาธารณะบริการบนเครือข่ายส่วนตัว หรือไพรเวท คลาวด์ระบบคลาวด์แบบผสมผสาน หรือไฮบริด คลาวด์​มาส่งมอบในประเทศไทย

จีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์ นับเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์รายแรกของไต้หวัน ที่ครอบคลุมโซลูชั่นทั้ง พับบลิค ไพรเวท ไฮบริดคลาวด์​สามารถนำใช้งานจริงได้อย่างรวดเร็ว ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น และบริการที่สมบูรณ์พร้อมการจัดการมัลติคลาวด์ ทั้งรวมถึงการกู้คืนความเสียหายและบริการสำรองข้อมูลบนคลาวด์ การปรับแต่งสถาปัตยกรรมคลาวด์เฉพาะของลูกค้าตามความต้องการขององค์กร

ชูจุดแข็งชิงตลาด

สำหรับจุดแข็งของจีดับเบิ้ลยูเอส คลาวด์ คือบริการหลังการขายครบวงจร ในราคาที่จับต้องได้ และไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง มีตัวเลือกการชำระเงินทั้งแบบรายเดือนและรายปี ช่วยให้องค์กรบริหารจัดการงบประมาณได้ง่าย ขณะเดียวกัน ยังมีบริการที่ตอบโจทย์ธุรกิจสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี รวมถึงองค์กรที่ไม่เคยใช้บริการคลาวด์มาก่อน แต่มีความต้องการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัลด้วย

“โลกขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ยุค ไอเอ คลาวด์การใช้คลาวด์จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แบรนด์ระดับโลกหรือผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่อาจไม่ได้เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกองค์กร บริษัทจึงมุ่งนำเสนอเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของไต้หวันสู่ตลาดไทย พร้อมบริการคลาวด์ที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่ใช้ระบบคลาวด์อยู่แล้วหรือกำลังพิจารณาที่จะลองใช้ระบบคลาวด์”นีนี่ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเป็นพันธมิตรกลุ่มแรกที่จะมาช่วยสตาร์ทอัพไทยและองค์กรระดับเอสเอ็มอีในการเดินหน้าขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงอนาคตขององค์กรเหล่านั้นสู่เส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่ง

ลงทุน ‘คลาวด์’ ในไทยสะพัด

การ์ทเนอร์ คาดว่า องค์กรธุรกิจในประเทศไทยจะมีปริมาณการใช้จ่ายในบริการคลาวด์สาธารณะปี 2566 เพิ่มขึ้น 31.7% จากปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 5.48 หมื่นล้านบาท โดยตลาดคลาวด์ทุกกลุ่มจะเติบโตในปีนี้ และบริการ Infrastructure-as-a-service (IaaS) จะเติบโตสูงสุดที่ 44.3%

ซิด ณาก รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลกำลังขับเคลื่อนคลาวด์เป็นวาระสำคัญ โดยปัจจุบันองค์กรต่างๆ มีมุมมองว่าคลาวด์คือแพลตฟอร์มกลยุทธ์ขั้นสูงสำหรับทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันซึ่งองค์กรเหล่านี้ต้องการผู้ให้บริการคลาวด์ที่สามารถนำเสนอความสามารถที่ซับซ้อนได้มากขึ้น อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการแข่งขันของบริการดิจิทัลที่กำลังร้อนระอุ

ตัวอย่าง เช่น Generative AI ที่รองรับการใช้งานของโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความสามารถการประมวลผลที่มีศักยภาพและปรับขนาดได้อย่างสูงเพื่อประมวลผลข้อมูลเรียลไทม์

คลาวด์สามารถนำเสนอโซลูชั่นและแพลตฟอร์มได้อย่างสมบูรณ์แบบ นี่จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผู้เล่นหลักเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลที่เข้ามาแข่งขันกันในด้าน Generative AI

การ์ทเนอร์ ประเมินว่า  บริการ Infrastructure-As-A-Service (IaaS) จะมีมูลค่าการใช้จ่ายผู้ใช้ปลายทางเติบโตสูงสุดในปี 2566 ที่ 30.9% ตามมาด้วยบริการ Platform-As-A-Service (PaaS) ที่ 24.1% ขณะที่ภายในปี 2569 องค์กร 75% จะนำโมเดลการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันมาใช้บนคลาวด์เป็นแพลตฟอร์มพื้นฐานสำคัญ