เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คำต่อคำ...จาก “พรชัย จันทรศุภแสง” หัวเรือใหญ่แห่งงาน Commart มหกรรมสินค้าไอทีสุดยิ่งใหญ่ และเป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของคนที่มองหาอุปกรณ์ไอที จากวันนั้นจนวันนี้ วันที่ Commart ไม่ได้เป็นแค่งานขายคอม

เมื่อพูดถึง Commart คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จักงานใหญ่ของสายไอทีงานนี้ เพราะนานนับสิบปีแล้วที่งานคอมมาร์ทอยู่ในลิสต์ของมหกรรมที่คนรักอุปกรณ์ไอทีตั้งตารอ นอกจากร้านค้าจะขนสินค้าราคาพิเศษมาลดถล่มทลายแล้ว บรรยากาศแบบที่มาครบจบในที่เดียวอย่างนี้ยังทำให้ Commart เป็นเบอร์หนึ่งเสมอมา

กรุงเทพธุรกิจไอทีจะพาไปรู้จักเบื้องหลังความสำเร็จของ งานคอมมาร์ท ซึ่งเดินทางมาถึงงาน Commart Best Deal แล้วโดยจะจัดไปจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผ่านถ้อยคำของ พรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ผู้เป็นพ่องาน Commart

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

คาดการณ์ Commart ครั้งนี้?

“เราอยากให้ Commart ปลายปีเป็นหนึ่งงานที่ช่วยกระตุ้นตลาดอุตสาหกรรมไอซีที ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่หลักของเราอยู่แล้ว หลายคนมีการพูดคุยกันว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโดยเฉพาะตลาดไอซีทีค่อนข้างจะนิ่งๆ ค่อนข้างจะซบเซา ถ้าเราวิเคราะห์กันง่ายๆ ในช่วงโควิดตลาดมันเติบโตเกินจริงปกติ เพราะว่าโควิดเป็นตัวเปลี่ยน ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ในการทำงานและการเรียน อย่างเช่นบ้านหนึ่งมีลูกสองคน มีพ่อแม่ สมัยก่อนมีโควิด ในบ้านอาจจะมีคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง แล้วค่อยแบ่งกันใช้ เพราะส่วนมากลูกจะไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ไปทำงานออฟฟิศ แต่พอวันที่มีโควิด ลูกต้องเรียนหนังสือที่บ้าน พ่อแม่ต้องทำงานที่บ้าน มันกลายเป็นว่าคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องไม่ซัพพอร์ตคนสี่คนได้แล้ว เลยเกิดปรากฏการณ์ความต้องการซื้อที่เกินจริงปกติ

พอซื้อไปแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่ในปีต่อมาจะทำให้คนซื้อเครื่องใหม่ต่อเลยทันที มันก็จะเกิดภาวะสุญญากาศของตลาด ว่างๆ นิ่งๆ อยู่พักหนึ่ง แต่มันก็เริ่มดีขึ้นแล้วถ้าดูสัญญาณบางอย่างในการขายของ Commart แต่ก็ยังไม่ดีเท่ากับช่วงเวลาที่เป็นภาวะเกินจริงปกติ ที่จากหนึ่งเครื่องกลายเป็นต้องซื้อเพิ่มอีกสามเครื่อง

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเอง คนขายของเอง ก็ยังคาดหวังให้มันกลับไปจุดนั้นอีก ตรงนี้จึงทำให้ทุกคนมีการบ้านว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะปกติเวลาทำธุรกิจจากที่เราทำเป้าได้ 10 บาท วันหนึ่งเราทำได้ 15 บาท มันคงไม่ใช่เป้า 15 บาทในปีถัดไป แต่มันจะเป็น 20 บาท 30 บาท 40 บาท พอสภาวะตลาดมันเริ่มทรงๆ แต่เป้าของธุรกิจถูกตั้งให้สูงขึ้น มันก็เลยเกิดการดิ้นรน การต่อสู้กัน Commart จึงเป็นตัวที่จะช่วยตรงนี้ ในมุมของผู้จัดเองเรามองว่าภาวะที่ผ่านจากโควิดแล้วซื้อเครื่องมา ตอนนี้ก็ถึงช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยน เพราะต้องยอมรับว่าอุปกรณ์ไอทีพอใช้ไปสักหนึ่งปีหรือปีที่สองจะเริ่มจะต้องเปลี่ยน ด้วยแอปพลิเคชัน ด้วยอะไรต่างๆ ทำให้เป็นแบบนั้น”

มองแบรนด์ Commart ในวงการ?

“แบรนด์ของ Commart คนจะรู้สึกว่ามันโอเค น่าเชื่อถือกว่าการที่จะไปซื้อจากข้างนอก สองคือ Commart เป็นแหล่งรวมของทุกร้านใหญ่ในเมืองไทย ร้านใหญ่ในเมืองไทยที่เป็น Top 5 ต้องมาออกกับ Commart ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้เดินดู เปรียบเทียบแต่ละร้าน เพราะถ้าคุณไปร้านสักร้านหนึ่งในห้าง คุณก็เดินแต่ร้านนั้น ถ้าคุณจะไปอีกร้านก็อาจจะต้องไปอีกชั้น หรือมันอาจจะอยู่ใกล้หรือไม่ใกล้กันก็ไม่รู้ แต่แน่นอนว่าจะไม่เจอกันห้าร้านติดกันอยู่แล้ว และไม่ได้เจอโปรโมชั่นที่ทุกร้านทำเหมือนกัน

และสมมติถ้าเราตัดสินใจซื้อของที่ร้านนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าร้านจะสต็อกของไว้ทุกรุ่น แต่ในขณะที่ร้านมาหมด ทุกคนเอาสต็อกมาใส่หมด เสน่ห์ของ Commart จึงเป็นความน่าเชื่อถือ และเราดึงทุกคนมาร่วมกันได้ และตัวเราเองก็มีแคมเปญการตลาดเสริมไป เช่น ที่เราทำวอยเชอร์แจกในกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นส่วนลดเพิ่มจากร้านค้าเหล่านี้ ซึ่งคนที่รับผิดชอบเป็นตัวผู้จัดงาน คนออกงานเขาก็แฮปปี้ หรือการที่เราทำวอยเชอร์ครึ่งราคาของวอยเชอร์ซึ่งเปิดปุ๊บขายหมดภายในไม่ถึง 10 นาที หรือแต่ละวันเราทำ Big Bonus คือการช้อปครบทุก 3,000 บาท แล้วได้ชิงโชค ซึ่งแต่ละวันเราจะจับรางวัลกันทุกตอนเย็น ซึ่งรางวัลเราก็พยายามสรรหาให้ไม่เหมือนกันแต่ละวัน หาของที่คนอยากได้แต่หาไม่ง่าย เช่น การ์ดจอรุ่นนี้คุณไปซื้อ ร้านเขาไม่ขายแยก แต่เรามีเฉพาะการ์ดจอที่คุณอยากได้ ไม่ต้องซื้อด้วย แต่คุณต้องช้อปในงานแล้วมาลุ้นโชค เป็นต้น”

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

บทบาทอื่นของ Commart ?

“ยุคนี้เป็นยุคคอนเทนต์ เราก็เป็นสื่อด้วย เราใช้พื้นที่ตรงนี้ในการครีเอทคอนเทนต์ออกไป เราก็มีทีมคอนเทนต์เพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภคเขาได้เห็น จากวันแรกที่เราหันกลับมาทำ เพราะจริงๆ Commart เราเริ่มจากการเป็นสื่อมาก่อน ก่อนจะมาเป็นอีเวนท์ เราเคยเป็นนิตยสารที่ชื่อว่า Commart ช่วงสามปีที่ผ่านมาเราเอาความเป็นสื่อของเรากลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะปกติสื่อของ Commart เราจะขยันทำช่วงงาน พอจบงานเราก็ปล่อยมันไป แต่ตอนนี้เราทำเป็นประจำ ใส่คอนเทนต์เข้าไป ก็จะมีกลุ่มแฟนคลับที่เขาชอบเรื่องการซื้อของที่เป็นเทคโนโลยีก็เข้ามาดู”

ยอดขายที่หวัง?

“ครั้งที่แล้วเราเงินสะพัดในงานประมาณ 3,300 ล้านบาท คราวนี้เราก็อยากได้ที่ 3,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าจากสถิติที่ผ่านมาเราก็มักจะทำได้เกินเป้า เพราะจริงๆ เมื่อกลางปีเราตั้งไว้ที่ 3,000 ล้านบาท แต่ก็ได้ 3,300 ล้านบาท ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”

สภาพเศรษฐกิจกระทบงาน Commart ?

“เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าสภาพเศรษฐกิจมีผลกับงาน Commart ในแง่เงินในกระเป๋า แต่ตอนนี้ต้องกลับมาถามว่าสินค้าที่เราขายมันอยู่ในส่วนไหนของชีวิต ผมเชื่อว่าสินค้าเทคโนโลยีตอนนี้ สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก คนสมัยนี้ ไม่ต้องเป็นเด็กหรอก เอาตัวผมที่อายุขนาดนี้แล้ว ตื่นมาเราต้องใช้เทคโนโลยีแล้ว ไม่ต้องเด็กสมัยนี้ก็ได้นะ สิ่งแรกที่คนรุ่นผมทำคือเปิดโทรทัศน์ เปิดวิทยุ ขนาดเราไม่เปิดมือถือนะ หลังจากที่เราแต่งตัวจนเสร็จจะออกจากบ้าน เราก็จะเปิดมือถือแล้วว่ามีใครไลน์มา มีเมลอะไร เลยต้องถามกลับไปว่าถ้าคุณจะดำรงชีวิตแบบปกติเราจะต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่กับตัว ปัจจัยห้าปัจจัยหกของสิ่งเหล่านี้มันเป็นตัวบังคับแล้วว่าคนต้องซื้อ

แล้วถ้าคนต้องซื้อก็กลับไปพื้นฐานที่ว่าซื้ออะไรคุ้มที่สุด หลายคนบอกว่าซื้อในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซถูกกว่าอีก แต่ในความจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น คือมันจะถูกก็ต่อเมื่อคุณได้คูปองส่วนลด แต่แพลตฟอร์มเหล่านั้นไม่ได้ให้คูปองส่วนลดกับทุกคน มันจึงเป็นกรอบ และต้องยอมรับว่าว่าร้านค้าอาจไม่ได้แฮปปี้กับการขายของบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพราะยิ่งขายเยอะเขายิ่งเจ็บตัว ด้วยเรื่องค่า GP, ดอกเบี้ยการผ่อนสินค้า อะไรต่างๆ ซึ่งมีเจ้าของร้านบางร้านบอกผมเลยว่าถึงไม่อยากขายก็ต้องขาย เพราะคนเชื่อว่าต้องซื้อตรงนั้น และถ้าแบรนด์เขาไม่อยู่ตรงนั้นก็เหมือนเขาตกขบวน”

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เทรนด์ของสินค้าในงาน Commart ?

“เทรนด์ช่วงนี้คงเป็นคอมพิวเตอร์ DIY, การ์ดจอ คือการ์ดจอเคยเฟื่องฟูมากๆ ตอนคนขุดคริปโท แต่ตอนนี้การ์ดจอก็เริ่มกลับมาหายากอีกครั้งหลังจาก AI เฟื่องฟู เพราะบริษัทใหญ่ๆ ต่างก็ซื้อการ์ดจอรุ่นดีๆ ไปใช้ ก็เลยผลิตมาถมตรงนั้นไม่เต็ม แต่ก็คงไม่โหดเท่าตอนคริปโท

ส่วนโน้ตบุ๊กซึ่งเป็นพระเอกหลักตลอดกาลของเราก็ยังคงทำตลาด ทำโปรโมชั่นออกมา งานนี้มีซีพียูรุ่นใหม่ของทั้ง Intel และ AMD หรือแม้กระทั่งของ Mac เองก็ออกตัว M3 รุ่นใหม่ นี่จึงเป็นตัวที่ทำให้คนที่ชอบของใหม่ก็รีบมาซื้อ ส่วนคนที่ชอบของตกรุ่นก็จะรีบมาซื้อเพราะราคาสินค้ารุ่นก่อนจะลง

ก่อนหน้านี้เราเคยโดนคำครหาว่าเดินไปไหนก็มีแต่โน้ตบุ๊กๆ เจอแต่แบรนด์ซ้ำๆ เพราะพวกนี้เขาไปอยู่ตามร้านตัวแทนใหญ่ๆ แต่ตอนหลังเราก็พยายามไปหาหน้าใหม่ๆ เข้ามา เช่น Silicon เก้าอี้เกมมิ่ง เก้าอี้สุขภาพ หรือ Gadget อื่นๆ Smart Home ของแต่ละบูธเริ่มไม่เหมือนกันแล้ว ยิ่งช่วงปีนี้เราจะเริ่มเห็น Apple มาผุดๆ ในงานเรามากขึ้นจากเดิมที่มีแค่เจ้าสองเจ้า เหมือนเห็นตลาดเริ่มเปลี่ยนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่คนเดิน Commart รู้สึกคือมาแบบนี้ค่อยมีอะไรให้เดินหน่อย

เราพยายามหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เพราะจุดยืนของเราคือเป็นงานเทคโนโลยี ตอนนี้เราก็เริ่มหันกลับมามองว่าตัวงานที่เป็นอีเวนท์เราอาจต้องเติมความเป็นเทคโนโลยีกว่าที่เป็นอยู่ จากเดิมที่เราเป็นแค่ขายพื้นที่ก็เริ่มหาแพลตฟอร์มให้ Commart ปีถัดไปๆ มีความไฮเทคมากขึ้น เราคงไม่เป็นแค่งานอีเวนท์แบบเดิมๆ อีกต่อไป”

ความท้าทายของ Commart ?

“ความท้าทายของงาน Commart หลักๆ คือการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเทคโนโลยีในยุคนั้น และการมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่บางทีคนซื้อเองก็ยังนึกไม่ถึงว่าฉันอยากได้ แต่เราต้องไปปักหมุดดึงเขาเข้ามาก่อน เมื่อก่อนมีคนบอกว่าไปเอา Mechanical Keyboard เข้ามาแล้วใครจะซื้อ คีย์บอร์ดซื้อทั่วไปอันละไม่กี่ร้อยเอง แล้วคีย์บอร์ดอันละสี่พัน ห้าพัน ใครจะซื้อ มีคนถามผมว่าไปชวนเขามาออกบูธแล้วเขาจะขายได้เหรอ คีย์บอร์ดนี่ผมดึงเขามาขายตั้งแต่ยังเป็นบูธ 3x3 นะ บูธเล็กๆ น้อยๆ แล้วพอดึงมาก็ขายพอได้นะ จนตอนหลังก็โตมาด้วยกัน เขาก็ค่อยๆ เติบใหญ่จนตอนนี้เป็นบูธใหญ่เลย

หรือตอนดึงเก้าอี้สุขภาพเข้ามาแรกๆ ก็มีคนถามว่าใครจะซื้อ ปรากฏว่าเขาขายได้ ก็เลยเห็นว่าความท้าทายคือเราต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าคนซื้ออยากซื้ออะไร เราตามกระแสอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ใช่ว่าตอนนี้ทุกคนเห่อคีย์บอร์ดแล้วเราค่อยดึงคีย์บอร์ดมาขาย แต่เราดึงเขาเข้ามาตั้งแต่ก่อนกระแสจะมา แล้วเขาจะรู้สึกว่าเราให้โอกาสเขา

เราอยู่ไมได้ด้วยการอาศัยแบรนด์รีเทลใหญ่ๆ อย่างเดียว และคนเดินงานก็คงไม่แฮปปี้ที่จะเจอแค่ห้าเจ้าใหญ่ แต่เขากอยากเจออะไรใหม่ๆ ซื้อโน้ตบุ๊กเสร็จมาซื้อคีย์บอร์ด ซื้อคีย์บอร์ดเสร็จมาซื้อเก้าอี้ คือไม่แข่งกันเอง แต่ถ้าทุกบูธขายโน้ตบุ๊กกันหมดมันเหมือนเวลาเราไปเดินงานบางงาน เจ้าของงานคิดง่าย ขายแต่ขนมที่เป็นกระแสตอนนั้น ยกตัวอย่างขนมบะบิ่น ก็จะมีคนขายบะบิ่น 5-6 เจ้าเรียงกันเลย คำถามคือเราซื้อบะบิ่นเจ้าที่หนึ่งแล้วเราคงไม่ซื้อบะบิ่นเจ้าที่สองหรอก แต่ถ้าเจ้าแรกขายบะบิ่น เจ้าที่สองขายทองหยิบฝอยทอง เจ้าที่สามขายขนมชั้น เรามีโอกาสซื้อทั้งสามชิ้น หลักการของผู้จัด Commart คือเราต้องสร้างความหลากหลายให้เยอะที่สุด หาของที่คนไม่เคยคิดว่าอยากซื้อมาใส่เข้าไปให้เยอะที่สุด ถ้าเขาลองแล้วดีก็จะติดตลาด”

เปิดใจผู้จัด! วันนี้ของ ‘Commart’ งาน IT ใหญ่ที่ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทำไมต้องไป Commart ?

“Commart เป็นตลาดที่เชื่อได้ว่าคุณจะได้สินค้าที่ดีที่สุด และถูกที่สุด แต่ไม่ใช่ถูกเกินจริงนะ เพราะการที่คุณไปซื้อของถูกเกินจริงคุณก็อาจได้ของทิพย์ ของปลอมไปก็ได้ แต่ของเราคุณมั่นใจได้ว่าคุณภาพได้แน่นอน เพราะทุกร้านที่เข้ามาเรารู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ผมรู้จักเจ้าของร้านทุกคน เกิดอะไรขึ้น Commart ก็จะเป็นตัวร้องเรียน คอยช่วยเหลือ ก็เคยมีบ้างที่ซื้อของแล้วมีปัญหา เราก็มีหน้าที่ช่วยประสาน ถ้าคุณไปซื้อกับใครไม่รู้ เขาก็อาจจะปล่อย แต่หน้าที่เราคือบริการเขาให้ดีที่สุด แก้ปัญหาเขาให้ถึงที่สุด มา Commart จึงได้ของที่ทันสมัยที่สุด ดีที่สุด ถูกที่สุด ในโลกความเป็นจริง”