ดีป้า-ทีบีเอ็นยกระดับทักษะ Coding หวังหนุนการจัดการองค์กรภาครัฐ

ดีป้า-ทีบีเอ็นยกระดับทักษะ Coding หวังหนุนการจัดการองค์กรภาครัฐ

ปูพรมพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ผ่านหลักสูตรโค้ดดิ้ง Coding ด้วยนวัตกรรม Low-Code/No-Code พร้อมชูประโยชน์ของการพัฒนาสำหรับหน่วยงานรัฐผ่าน Mendix แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันใช้โค้ดน้อยลง ทำให้การเขียนโค้ดเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นประธานเปิดกิจกรรมการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการองค์กรภาครัฐ (Coding for Public Organization Management) ผ่านหลักสูตร Coding ด้วยนวัตกรรม Low-Code / No-Code  ดีป้า มุ่งส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะด้านโค้ดดิ้ง ซึ่งนับเป็นหนึ่งในทักษะพื้นฐานสำคัญสำหรับบุคลากรในสายเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลให้กับประชาชนทุกกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ถือเป็นการสร้างเมล็ดพันธุ์ดิจิทัล สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญของการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital) เครื่องยนต์เครื่องที่สามของนโยบายการดำเนินงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ The Growth Engine of Thailand

สำหรับกิจกรรมการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งเพื่อการจัดการองค์กรภาครัฐในหลักสูตร Coding ด้วยนวัตกรรม Low-Code / No-Code ที่ ดีป้า ดำเนินการร่วมกับ ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดความเข้าใจในแนวคิดของการพัฒนาแบบ Low-Code และประโยชน์ของการพัฒนาสำหรับหน่วยงานรัฐผ่าน ‘Mendix’ แพลตฟอร์มที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชันใช้โค้ดน้อยลง ทำให้การเขียนโค้ดเป็นเรื่องง่าย พร้อมเรียนรู้วิธีระบุโอกาสและความท้าทายเชิงนวัตกรรมภายในหน่วยงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

"กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้สามารถเขียนโค้ดได้ด้วยเทคนิค Low-Code / No-Code ประกอบด้วย 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการปลดล็อกนวัตกรรมโลโค้ด (Low-Code) ด้วยแพลตฟอร์มเมนดิกซ์ (Mendix Platform) สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จัดขึ้นในวันนี้ และหลักสูตรการปลดล็อกนวัตกรรมโลโค้ด (Low-Code) ด้วยแพลตฟอร์มเมนดิกซ์ (Mendix Platform) สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ อาคารดีป้า สาขาภาคอีสานตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีผู้เข้าร่วมยกระดับทักษะโค้ดดิ้งรวมไม่น้อยกว่า 1,000 คน

โดย ดีป้า คาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตน อีกทั้งเป็นผู้ถ่ายทอดทักษะด้านโค้ดดิ้งขั้นต้นแก่ผู้ที่สนใจได้ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลไกการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้รากฐานอนาคตของประเทศ" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Coding for Better Life ยังมีกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านโค้ดดิ้งแก่ประชาชนในหลากหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็น Coding Empower for Startups Coding for Fun สนุกคิด พิชิตโค้ด Coding ด้วยปัญญาประดิษฐ์ Coding for Smart City Data Officers (SCDO) ร่วมขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะด้วยข้อมูล ถอดรหัสโค้ดดิ้งสู่เกษตรอัจฉริยะ เสวนาออนไลน์ Coding for Better Life ยกระดับทักษะด้าน Coding, AI และทักษะเกี่ยวเนื่อง สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และ Coding ด้วยนวัตกรรม Low-Code / No-Code เพื่อการจัดการองค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ ฯลฯ รวมถึงกิจกรรม Coding Road Show ที่จะมีขึ้นใน 8 ภูมิภาคทั่วประเทศในปี 2567

นอกจากนี้ โครงการ Coding for Better Life ยังมีการวางกลไกเสริมทักษะ Coding ในสถานศึกษา โดยจะดำเนินการยกระดับห้องเรียนโค้ดดิ้งในโรงเรียนทั่วประเทศรวม 1,500 แห่ง การจัดทำหลักสูตรโค้ดดิ้งพร้อมเสริมทักษะการสอนแก่คุณครูรวมไม่น้อยกว่า 3,000 คน เพื่อยกระดับสู่การเป็นบุคลากรสำคัญที่จะถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนรุ่นต่อรุ่น

ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างความรู้และทักษะแก่นักเรียนได้ไม่น้อยกว่า 480,000 คนต่อปี