ปรับตัวรับพลังใหม่

ปรับตัวรับพลังใหม่

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ มากมาย

การบริหารงานในยุคปัจจุบัน ดูจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าในอดีตหลายเท่า เพราะพลวัตรการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม ล้วนเกิดขึ้นรวดเร็ว และก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างจนทำให้ธุรกิจมีความผันผวนสูงมาก

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงไม่แพ้กันคือเรื่องการบริหาร “คน” โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ขึ้นชื่อว่าบริหารยาก ซึ่งการพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจ หรือผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่ง มักหยิบยกเรื่องปัญหาในการทำงานกับคนรุ่นใหม่มาหารือกันเสมอ

ปัญหาเรื่องการทำงานกับคนรุ่นใหม่นั้น มีมุมมองที่น่าพิจารณาอยู่ 2 มุมมองด้วยกัน นั่นคือปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจริงไหม และปัญหานั้นผู้บริหารซึ่งเป็นคนรุ่นเก่าจำเป็นต้องพิจารณาตัวเองด้วยไหมว่าต้องเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

มองดูที่ข้อแรก เราจะพบต้นตอของปัญหาดังกล่าวมากมายในหลายมิติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัลก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ มากมายที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับบางอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 3-5 ปี

แต่การเตรียมพร้อมเพื่อป้อนคนเข้าสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ เรากลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดูจากภายในรั้วมหาวิทยาลัยเราก็จะพบแต่คณะและสาขาวิชาเดิมๆ ที่เปิดสอนมาหลายทศวรรษในขณะที่สาขาใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกลับมีการเรียนการสอนน้อยมาก

ผลที่เกิดขึ้น คือ บัณฑิตบางสาขามีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการภาคธุรกิจ ขณะที่บางสาขาก็ผลิตออกมามากเกินไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันที่ไม่ต้องใช้ทักษะจากบัณฑิตกลุ่มนี้ ส่งผลให้คนที่เรียนจบมาหางานทำไม่ได้

คนรุ่นใหม่ที่จบในสาขาวิชาที่ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ จึงเป็นที่ต้องการสูงมาก แต่คนเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นมาด้วยค่านิยมที่แตกต่างจากคนยุคเก่าหลายอย่าง โดยเฉพาะค่านิยมในการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่

เพราะคนรุ่นเก่าเติบโตมาในบริบทที่แตกต่างกับในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่า จะเป็นสภาพสังคมและความเป็นอยู่ การได้ทำงานในองค์กรใหญ่จึงเป็นเหมือนโอกาสสำคัญของเขา แม้จะเป็นเพียงตำแหน่งเล็กๆ แต่เขาก็ภูมิใจกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนรุ่นเก่าหากถึงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างกิจกรรมส่วนตัว กับงานด่วนที่เกิดขึ้นกระทันหันและตรงกันพอดี เขามักเลือกงานก่อนเรื่องส่วนตัว เพราะคิดว่าเรื่องส่วนตัวใช้เวลาเมื่อไรก็ได้ แต่งานนั้นอาจเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับการใช้เวลาในที่ทำงานที่เขามักจะอยู่ทำให้เสร็จโดยไม่สนใจเวลาเลิกงานหรือแม้แต่เป็นวันหยุดก็ตาม

หันมาดูคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในสภาพสังคมยุคปัจจุบันดูบ้าง เราจะเห็นว่าเขาเติบโตมาพร้อมความอิสระเสรีเหนือขีดจำกัด ด้วยความที่พ่อแม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีชีวิตความเป็นอยู่สบายกว่ายุคก่อน จึงให้ความสะดวกกับลูก ๆ อย่างเต็มที่

เด็กรุ่นใหม่จึงเติบโตมาอย่างไร้ความกดดัน ไม่ต้องหลบภัยสงครามเหมือนรุ่นปู่ย่า ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเหมือนรุ่นพ่อ และที่สำคัญเขาเติบโตมาในยุคที่คนหนุ่มสาวประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีพันล้านได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

การเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัปทำให้เขาตระหนักในพลังของตัวเองว่าสามารถก้าวกระโดดไปสู่ความสำเร็จได้โดยไม่ต้องใช้เวลาหลายทศวรรษเหมือนคนรุ่นพ่อ ต้นแบบของเขา เช่น อีลอน มัสก์ หรือ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ก็เติบโตไปสู่ความเป็นเศรษฐีได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

การเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในองค์กรขนาดใหญ่จึงไม่ได้เป็นทางเลือกเดียวของเขา นั่นคือเขามีอิสระมากพอในการเลือกเส้นทางการไปสู่ความสำเร็จที่เป็นของตัวเองโดยไม่ต้องใช้รูปแบบเดิม ๆ เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ซึ่งค่านิยมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจ

เพราะเราจะไม่มีทางใช้พลังความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ได้เลยหากไม่มีความเข้าใจความคิด และไม่เข้าใจทัศนคติที่เขามีต่อโลกยุคปัจจุบัน ผู้บริหารยุคใหม่จึงต้องตระหนักในความสำคัญของเขา และปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ให้เร็วที่สุด