‘ไมโครซอฟท์’ ลุยแผนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

‘ไมโครซอฟท์’ ลุยแผนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย

“ไมโครซอฟท์” เดินหน้าทำงานร่วมรัฐบาลไทย ย้ำการลงทุนเป็นไปตามเอ็มโอยู เร่งหารือเจรจาเงื่อนไข เฟสแรกเตรียมตั้ง “AI Center of Excellence” พร้อมประเดิมความร่วมมือโครงการต้นแบบกับ 3 กระทรวงหลัก เล็งเข้าพบนายกฯ ทุก 3 เดือน หวังแผนงานสร้างอิมแพคได้จริง

หลังจากรัฐบาลไทยเซ็นเอ็มโอยูกับ “ไมโครซอฟท์” ยักษ์เทคโนโลยีโลก เน้นความร่วมมือด้านดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ เอไอ และความยั่งยืน ล่าสุด เอ็มดีไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ย้ำการลงทุนเป็นไปตามเอ็มโอยู พร้อมเผยความคืบหน้า

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่ไมโครซอฟท์ และรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า ขณะนี้ทางไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้เริ่มดำเนินการเพื่อทำให้แผนงานเป็นไปตามที่ได้เอ็มโอยูไว้

“เรามีมาสเตอร์แพลนอยู่แล้ว จากนี้จะเป็นเรื่องของการพูดคุยลงรายละเอียด จัดลำดับความสำคัญ ว่าเฟสไหนต้องทำอะไร ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศไทยได้”

เขากล่าวว่า การทำงานร่วมกันจากนี้มีอยู่หลายเรื่องอย่างมาก ซึ่งรวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพระบบงานของภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวิร์นเมนท์ และการพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไออย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะมีการแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอดต่อไป

เดินแผนลงทุน ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ ในไทย

เอ็มโอยูดังกล่าวมีขอบเขตที่กว้างอย่างมาก แต่ในระยะสั้นที่จะได้เห็นก่อนในเฟสแรกๆ คือ การจัดตั้ง “AI Center of Excellence” ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและประสานงาน เพื่อนำเอไอไปใช้กับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และการบริการของภาครัฐ

พร้อมกันนี้ อยู่ระหว่างการคัดกรองกรมและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเริ่มต้นทำงานร่วมกันในโครงการต้นแบบ โดยขณะนี้ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่ในเฟสแรกจะเริ่มที่ 3 กระทรวงก่อน

ส่วนแผนการลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย อยู่ระหว่างการนำเสนอและพูดคุยถึงเงื่อนไขของซึ่งกันและกัน โดยที่สำคัญในเบื้องต้นคือ ด้านบิสิเนสเคส และดีมานด์การใช้งานเมื่อเข้ามาจัดตั้งและดำเนินการอย่างเป็นทางการ

มากกว่านั้น ในอีกขาหนึ่งการติดตั้งต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของไมโครซอฟท์ที่ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2025 ดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทจะต้องดำเนินการด้วยพลังงานหมุนเวียน

เล็งคุยนายกฯ ทุก 3 เดือน

เอ็มดีไมโครซอฟท์เผยว่า ทางไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อหารือ ขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ติดขัดและทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามแผน

โดยภาพรวมมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย ยกระดับการทำงานภาครัฐ และการให้บริการภาคประชาชน

ส่วนของการจัดสรรงบประมาณ หลักๆ ทางไมโครซอฟท์จะตั้งเป็นรายปี (CAPEX) ด้านการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ จะสอดคล้องไปกับนโยบายการให้บริการระดับภูมิภาค และแผนงานด้านคลาวด์แฟบริก มีการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยังมีความท้าทายคือ ภาครัฐจะมีแนวทางที่สามารถปลดล็อกเรื่องการทำสัญญา ที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เช่น หากเป็นสัญญาแบบข้ามปีจะทำได้ไหม จะมีแนวทางปลดล็อกเมื่อต้องมีความร่วมมือแบบระยะกลางหรือระยะยาวอย่างไร

สำหรับการร้องขอและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ เช่นด้านภาษี เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดระหว่างกันเพิ่มเติม

โดยภาพรวมเฟสแรกจะเป็นการพูดคุยหารือถึงเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมระบุว่า การสร้างความสำเร็จ ความท้าทายหลักๆ คือ Leadership commitment ความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงความพร้อมของข้อมูลที่จะนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในเฟสต่อๆ ไป

หนุนไทยก้าวสู่ยุคใหม่ ‘เอไอ’

ล่าสุด ไมโครซอฟท์ เดินหน้าผลักดันการใช้งานเอไอ จัดงาน “AI Summit” ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ภายใต้แนวคิด “Leading the Era of AI” เพื่อนำเสนอศักยภาพของเอไอที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก จนกลายเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรธุรกิจยุคใหม่ และช่วยรับมือความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก

ไฮไลต์เช่น นวัตกรรมโซลูชัน Copilot for Microsoft 365 และ Azure OpenAI Service ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัว เพื่อให้ทุกภารกิจสำเร็จได้อย่างราบรื่น

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า เอไอนับเป็นจุดเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ สำหรับไมโครซอฟท์มุ่งวิจัยและพัฒนาเอไอที่ผสมผสานเข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ มีบทบาทเป็น Copilot พร้อมช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ใช้และองค์กรธุรกิจในทุกระดับให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น มากขึ้น เร็วขึ้น

จากการสำรวจความคิดเห็นและแนวทางการใช้งาน Copilot ของลูกค้าองค์กรใน 41 ประเทศทั่วโลก พบว่า ผู้ใช้ Copilot ถึง 70% ระบุว่าพวกเขาสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 68% รู้สึกว่าผลงานมีคุณภาพมากขึ้น

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ใช้ Copilot สามารถทำงานประเภทการค้นหาข้อมูล งานเขียน และการสรุปเนื้อหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น 29%, สามารถติดตามเนื้อหาและประเด็นสำคัญในการประชุมที่ตนเองไม่ได้เข้าร่วมได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าตัว

ขณะที่ ผู้ใช้ราว 64% เผยว่าพวกเขาใช้เวลาน้อยลงในการจัดการกับอีเมล 85% สามารถเขียนงานดราฟท์แรกออกมาได้เร็วขึ้น และ 75% ค้นหาเอกสารที่ต้องการได้เร็วขึ้น

ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประเทศไทยได้ร่วมทำงานกับองค์กรทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงภาครัฐ และพบว่าต่างมีความมุ่งมั่นที่จะนำเอไอมาปรับปรุงให้ระบบภายในมีประสิทธิภาพดีขึ้น จากประสบการณ์ไทยนับเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน โทรคมนาคม และการเงินการธนาคาร