เข็นคลื่น 3500 ลงไพรเวท เน็ตเวิร์ก 'กสทช.' คุยไอเอสพีดัน '5G' เสิร์ฟอุตสาหกรรม

เข็นคลื่น 3500 ลงไพรเวท เน็ตเวิร์ก 'กสทช.' คุยไอเอสพีดัน '5G' เสิร์ฟอุตสาหกรรม

กสทช.เรียกไอเอสพีรายย่อย ยูไอเอช ซิมโฟนี่ เอแอลที เทเลคอม ลุยประมูล 5G เป็นไพรเวท เน็ตเวิร์ก เพื่อภาคอุตสาหกรรม เปิดทางจับคู่กับโอเปอเรเตอร์ - นิคมฯ จับมือเข้าประมูล เร่งสรุปหลักเกณฑ์ก่อนชงบอร์ดลงมติ

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ตนเอง และทีมงานกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคลื่นความถี่ 3500 MHz จำนวน 100 MHz ช่วงคลื่น 3600 MHz-3700 MHz จากคลื่นทั้งหมดที่มีประมาณ 400 MHz เพื่อนำมาให้กลุ่มอุตสาหกรรมประมูลทำไพรเวท เน็ตเวิร์ก 5G คาดว่าหากผลการศึกษาพบว่ามีความต้องการของตลาด และมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลก็จะส่งผลการศึกษา และผลการหารือกับภาคส่วนต่างๆ ให้สำนักงาน กสทช.ศึกษาถึงแนวทางในการประมูลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณา หากมีความเห็นชอบร่วมกัน คาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 - ต้นปี 2568
 

สำหรับสาเหตุที่ตนเองต้องการนำคลื่นดังกล่าวแบ่งมาให้ภาคอุตสาหกรรมประมูล เนื่องจากที่ผ่านมาการให้บริการ 5G ในภาคอุตสาหกรรมผ่านโอเปอเรเตอร์ มีราคาแพงเหตุจากค่าประมูลที่สูง ขณะที่การให้งบประมาณในการสร้างยูสเคส 5G ของกสทช.พบว่าส่วนใหญ่เป็นเหมือนโชว์เคสมากกว่า สิ่งที่ กสทช.ใช้งบประมาณหลาย 100 ล้านบาท ผ่านการให้ทุนมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ได้เกิดการใช้งานจริง

จึงให้นโยบายกับสำนักงาน กสทช.ว่าต่อไปเมื่อมีการของบประมาณในรูปแบบนี้อีกขอให้ใช้สำนักงานพิจารณาเฉพาะโครงการใหญ่เพียง 2 โครงการ และให้เกิดประสิทธิภาพเป็นยูสเคส 5G อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ จากการพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆได้รับเสียงสะท้อนว่าบริษัทต่างชาติต้องการมาลงทุนกับโรงงานที่มีระบบ 5G แต่ไม่สามารถลงทุนเองได้ ซึ่งหากบริษัทอุตสาหกรรมสนใจลงทุนทำระบบเอง คาดว่าใช้เงินลงทุนเพียง 1 แสนบาทต่อ 1 สถานีฐาน ก็สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายได้
 

ดังนั้นรูปแบบการประมูลไพรเวท 5G ครั้งนี้ จึงไม่ควรมีราคาแพง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทย ถูกมองว่าเป็นประเทศที่เปิดประมูลคลื่นในราคาแพงที่สุด แต่จะไม่ประมูลเลยก็ไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุชัดว่าต้องจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลเท่านั้น

ส่วนรูปแบบการประมูลยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นรูปแบบไหน อาจจะเป็นการประมูลแบบแบ่งส่วนแบ่งรายได้ หรือ รูปแบบอื่น รวมถึงจำนวนใบอนุญาต และปริมาณของแต่ละใบอนุญาตก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปในขณะนี้

สมภพ กล่าวว่า ล่าสุด ตนเองได้หารือกับเอกชนผู้ให้บริการเน็ตเวิร์ก และวางระบบโทรคมนาคมหรือที่เป็นไอเอสพีรายย่อย 3 ราย คือ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช ,บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) พบว่ามีความสนใจ หากราคาประมูลไม่แพง ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถจับคู่กับโอเปอเรเตอร์ หรือ นิคมอุตสาหกรรมมาประมูลใบอนุญาตได้ แต่ไม่สามารถใช้งานสื่อสารในวงกว้างได้แบบโอเปอเรเตอร์รายใหญ่

“เราไม่อาจปิดกั้นรายใหญ่ได้ แต่การแบ่งคลื่นมาประมูลก่อนเพื่อต้องการให้เกิดไพรเวท 5G ในภาคอุตสาหกรรมเร็วขึ้น ส่วนการประมูลอีก 300 MHz ที่เหลือนั้น คาดว่าโอเปอเรเตอร์รายใหญ่น่าจะมีความพร้อมช่วงปี 2569 เมื่อภาระการจ่ายค่าประมูลลดลง และ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ไม่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการแล้ว ก็อาจจะสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่น 3500 MHz ”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์