กสทช. ดีเดย์ 15 ม.ค. 67 นำร่อง 'Cell Broadcast' บางพื้นที่ในกทม.ผ่านการส่ง SMS

กสทช. ดีเดย์ 15 ม.ค. 67 นำร่อง 'Cell Broadcast' บางพื้นที่ในกทม.ผ่านการส่ง SMS

ประธานกสทช. เร่งดันระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS มั่นใจนำร่องทดสอบพื้นที่ กทม. 15 ม.ค.67 ส่วนการให้บริการทั้งประเทศยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เหตุอยู่ระหว่างการศึกษางบประมาณและเจ้าภาพในการดูข้อมูลเตือนภัย

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า จากการที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้หารือกับ กสทช.

ในเรื่องการจัดทำระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว หรือ Cell Broadcast ผ่านการส่งข้อความสั้น SMS เพื่อแจ้งเตือนภัยพิบัติต่อประชาชนนั้น เบื้องต้นได้กำหนดวันทดลองระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนในวันที่ 15 ม.ค. 2567 เป็นความร่วมมือกับ ดีอี กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ
 

สำหรับงบประมาณในการทำระบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ด้วย และต้องมีการประชุมกับผู้ให้บริการมือถืออีกครั้ง ซึ่งอาจจะใช้เงินของ กองทุนวิจัยและ พัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูโซ่) ในการสนับสนุน โดยให้ผู้ให้บริการมือถือนำค่าใช้จ่ายจากการอัพเดทซอร์ต์แวร์ มาหักกับเงินที่ต้องนำส่งกองทุน กทปส.โดยเบิกค่าใช้จ่ายตามจริง

ทั้งนี้ หลังทดสอบระบบแล้วคงต้องมาดูว่ามีอะไรต้องปรับปรุงเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถระบุ ช่วงเวลาในการเริ่มให้บริการระบบแจ้งเตือน Cell Broadcast ได้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญในเรื่องนี้ คือ ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการแจ้งเตือน ต้องมีกี่ระดับ และหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นเหตุในท้องถิ่น เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ก็อาจเป็นหน่วยงานท้องถิ่นหรือไม่ แล้วให้ทางผู้ให้บริการมือถือเป็นผู้สนับสนุนระบบ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งหมดต้องมีการพูดคุยหารือในเรื่องนี้อีกครั้ง
 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทาง น.ส. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. ด้านภัยพิบัติและสาธารณสุข ได้เข้าหารือ กับทาง กสทช. โดยคาดว่าจะใช้เวลาทำงานอีก 2-3 เดือน ในการดูข้อมูลในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ ในเบื้องต้นอาจจะใช้พื้นที่จำกัดก่อน เช่น สวนสาธารณะ อาคาร หรือสนามกีฬา เป็นต้น และทำการทดสอบระบบภายในกรอบเวลาที่กำหนดต้นปีหน้า