'ค่าโทรแพง เน็ตช้า สัญญาณไม่ดี' กสทช.จ่อประมูลคลื่น 4 ความถี่รวดปี 69

'ค่าโทรแพง เน็ตช้า สัญญาณไม่ดี' กสทช.จ่อประมูลคลื่น 4 ความถี่รวดปี 69

ยกสล็อตคลื่น 850 2100 2300 3500 MHz ทำแผนจัดสรรความถี่ เพื่อประมูลคลื่นความถี่ หามาตรการปลดล็อกอุปสรรคหนุน MVNO เกิดอย่างยั่งยืน เพิ่มผู้เล่นในตลาด หลังผู้บริโภคโวยหลังควบรวมอุตฯเหลือ 2 รายใหญ่ เจอราคาแพงเท่ากัน สวนทางคุณภาพที่ต่ำลง

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ในปี 2568 คลื่นความถี่จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 MHz คลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2300 MHz ที่อยู่กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน ) หรือ เอ็นที จะสิ้นสุดการให้บริการและต้องคืนคลื่นมาให้กสทช.จัดสรรใหม่ รวมถึงคลื่นที่ยังเหลืออยู่ที่กสทช.คือ คลื่น 3500 MHz ที่ยังไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ดังนั้น กสทช.จึงต้องเตรียมทำแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ หรือ โรดแมป เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนคลื่นความถี่ดังกล่าวจะหมดอายุ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนี้

สำหรับสาเหตุที่กสทช.เร่งดำเนินการโรดแมปดังกล่าว เนื่องจาก ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องการความชัดเจนของแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศไทยในระยะ 2-5 ปี ข้างหน้าว่าสำนักงาน กสทช.มีแผนจะจัดสรรคลื่นอย่างไรบ้าง เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจในอนาคต รวมถึงงบประมาณที่ต้องวางแผนล่วงหน้าด้วย

“ข่าวที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาเรียกร้องให้เข้ามากำกับดูแลเรื่องค่าบริการ หลังจากที่มีการอนุญาตให้ควบรวมระหว่างทรูแลดีแทค ในตอนนั้น ต้องยอมรับตนในตำแหน่งกสทช.ด้านโทรคมฯยังไม่ได้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่ง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเรียกให้เอกชนเข้ามาชี้แจงและต้องยอมรับว่า การประมูลคลื่นความถี่ของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆมาก ทำให้มีผลต่อราคาค่าบริการ และกระทบต่อผู้บริโภคได้”

สมภพ กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่เอ็นทีจะคืนมาในปี 2568 นั้น กสทช.ต้องมาดูว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้อย่างไรบ้าง หรือเอกชนมีความสนใจจะใช้งานต่ออย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนขยายโครงข่ายไปจำนวนมาก ก็อาจจะนำออกมาประมูลต่อ ส่วนคลื่นความถี่ 3500 MHz ที่มีอยู่ประมาณ 400 MHz นั้น ได้มีแนวทางในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว คาดว่าจะใช้กรอบระยะการทำงาน 2 ปี เพื่อศึกษาปริมาณคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ที่สามารถนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม และแนวทางเตรียมความพร้อมของคลื่นความถี่ก่อนที่จะนำมาจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคม

นอกจากนี้ คณะทำงานจะศึกษาความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อรองรับการเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ รวมถึงการศึกษาและจัดทำโรดแมป การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ และการกำหนดรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไขในการจัดสรรคลื่นความถี่

“มองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปิดประมูล คือปี 2569 คาดว่าเมื่อถึงเวลานั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น และพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล”

สมภพ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญและเป็นนโยบายในการเข้ามาทำงานกสทช.ของตนเอง คือ การส่งเสริมให้เกิด MVNO หรือ ผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือน ที่รับซื้อคลื่นจากผู้ได้รับใบอนุญาตมาประกอบกิจการกับประชาชนกลุ่มที่ผู้ให้บริการค่ายใหญ่ไม่ได้ทำตลาด หรือ ไม่สามารถทำราคาถูกได้ ทว่าที่ผ่านมามีปัญหาจากต้นทุนของ MVNO ที่ซื้อคลื่นจากค่ายใหญ่สูง ประกอบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งค่ายใหญ่ก็ลงไปรุกตลาดทุกกลุ่ม ทำให้ MVNO ไม่สามารถสู้ค่ายใหญ่ได้ ทำให้บริษัท MVNO ไม่เกิด ดังนั้น กสทช.จึงต้องเร่งออกนโยบายส่งเสริมให้ MVNO เกิดด้วย เพื่อสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายเล็ก และเป็นทางเลือกให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการโทรคมนาคม

แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการเรียกตัวแทนจากผู้ประกอบการที่เหลือในตลาดทั้ง 2 รายคือ TRUE และ AIS ให้ชี้แจงโปรโมชั่นแพคเก็จที่มีขายในตลาดทั้งหมด ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการร้องเรียน ซึ่งเบื้องต้นในการตรวจสอบจากพบว่า ค่ายมือถือรายหนึ่ง ที่ยังมีการแถมซิมฟรีไปร้านสะดวกซื้อ เอาค่าเฉลี่ยมาหารแพคเก็จรวมทั้งหมด และยืนยันว่ามีการลดราคาลงกว่า 12% แต่หากดูในรายละเอียดนั้น จะพบว่าค่าโทรฯที่ลดลง มาจากการให้ฟรีดาต้ากับแพคเก็จที่ขายเฉพาะบริการวอยซ์เท่านั้น ทำให้สามารถคิดค่าเฉลี่ยออกมาได้ ซึ่งเอาแพคเก็จไปขายให้แก่ผู้ใช้ในต่างจังหวัดที่ไม่เคยใช้ดาต้าอยู่แล้ว ส่วนอีกค่ายหนึ่งปรับราคาและสปีดดาต้าให้เทียบเท่ากับอีกค่ายในเกือบทุกแพคเก็จเพราะมองว่าในด้านราคาไม่ต้องมีการแข่งขันกันแล้ว เปลี่ยนมาบันเดิลบริการเสริมเข้าไปแทน โดยเฉพาะบริการคอนเทนต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์