Meta เข้มมาตรการ สกัด ‘เพจปลอม - ภัยลวงออนไลน์’

Meta เข้มมาตรการ  สกัด ‘เพจปลอม - ภัยลวงออนไลน์’

Facebook เป็นหนึ่งในช่องทางยอดนิยมที่เหล่ามิจฉาชีพใช้เป็นสะพานในการเชื่อมต่อกับเหยื่อบนโลกออนไลน์ แม้ว่าจะมีการปราบปราม ปิดกั้นไปแล้วไม่น้อย แต่ดูเหมือนว่าปัญหายังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง กลับกันเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ทั้งยังมาพร้อมวิธีการหลอกลวงที่ซับซ้อนกว่าเดิม

เรื่องนี้มุมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เฮเซเลีย มาร์กาเรต้า ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะด้านนโยบายเศรษฐกิจ Meta ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีคำตอบว่า Meta มีมาตรการที่เข้มข้นในการสกัดกั้นเนื้อหา เพจปลอม รวมถึงโฆษณาที่สนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม

ที่ผ่านมา มีแนวทางการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่แค่นำกระทู้ออก แต่ได้พยายามตามติดมิจฉาชีพเพื่อไม่ให้กลับมาเปิดเพจเพื่อกระทำความผิดได้อีก ทั้งยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ มีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงาน หลักปฏิบัติ กฏเกณฑ์ รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ที่จะทำร่วมกัน 

Meta ทำการลบบัญชีปลอมไปแล้วกว่า 676 ล้านบัญชีทั่วโลกบน Facebook จากจำนวนดังกล่าว 98.8% ถูกตรวจพบและลบออกไปผ่านการดำเนินงานเชิงรุกด้วยเทคโนโลยีเอไอ ก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาจากผู้ใช้

เมื่อเดือนธ.ค.ปี 2565 ดำเนินการลบเนื้อหาที่เป็นภัยหลอกลวงเป็นจำนวน 1.1 พันล้านชิ้น โดย 95.3% เป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจจับผ่านการดำเนินงานเชิงรุกโดยเอไอเช่นกัน

คำถามคาใจ ‘ทำไมไม่ลดลงสักที’

อย่างไรก็ตาม มักมีคำถามว่า “จัดการไปอย่างมากแล้วทำไมไม่ลดลงสักที” คำตอบคือ การจะตามให้ทันอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย มิจฉาชีพมักมีวิธีการหลอกลวง แอบแฝง และพยายามหาช่องโหว่ของระบบเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับอยู่เสมอ

ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง เนื่องจากเหล่าสแกมเมอร์มักมีการดำเนินการจากหลากหลายแหล่งในพื้นที่สาธารณะออนไลน์ต่างๆ และปฏิบัติการนอกแพลตฟอร์ม หรือออฟไลน์ด้วย

Meta เผยว่า บริษัทมีการพัฒนาและปรับปรุงเทคนิคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการมอบเครื่องมือและโซลูชันต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ปลอดภัยจากปัญหาบัญชีปลอมและพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ดี

“ปัญหาภัยลวงบนโลกออนไลน์ (scam) นับเป็นประเด็นที่มีความท้าทายสูง ซึ่งบ่อยครั้งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อน มีเงินทุนสนับสนุนอย่างเป็นระบบและทำเป็นรูปแบบกระบวนการ”

 ‘แมชีนเลิร์นนิง- เอไอ’ ด่านแรก

สำหรับแนวทางการ “ตรวจจับและป้องกันสแกม” มีการลบเนื้อหาที่มีวัตถุประสงค์ในการหลอกลวง จงใจให้ข้อมูลที่ผิด ฉ้อโกงหรือแสวงหาผลประโยชน์จากผู้อื่นในทางที่ผิด ด้วยการหลอกลวงเพื่อให้ได้เงินหรือทรัพย์สินของผู้อื่น รวมถึงเนื้อหาที่ทำงานประสานกันหรือโปรโมทกิจกรรม

มีการดำเนินการและลงโทษกับผู้กระทำความผิด ตามความรุนแรงของการละเมิดกฎและนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายผ่านการทำงานร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

Meta ใช้เทคนิคการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับปัญหาภัยลวงออนไลน์บนแพลตฟอร์มประกอบด้วย เทคโนโลยีแมชีนเลิร์นนิงและเอไอ เพื่อตรวจสอบเนื้อหาและบัญชีที่ละเมิดนโยบายเป็นด่านแรก, ลดการเข้าถึงเนื้อหาที่อาจเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นภัยลวง, ตรวจสอบเข้มข้นบัญชีที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการละเมิดกฎต่างๆ

นอกจากนี้ จัดตั้งช่องทางการรายงานเนื้อหาภัยลวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งมีการตรวจสอบเพื่อลบบัญชีปลอมออกจากแพลตฟอร์มเป็นประจำ

เข้มมาตรการสกัดโฆษณาลวง

ส่วนของการต่อสู้กับ ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเป็นผู้อื่น (impersonation) และป้องกันไม่ให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มถูกใช้งานเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมการหลอกลวง ได้พัฒนามาตรฐานการโฆษณา เพื่อเป็นแนวทางที่ระบุว่าโฆษณาแบบใดได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มในเครือ

“เราไม่อนุญาตให้ใช้โฆษณาที่มีเนื้อหาหลอกลวงหรือสร้างความเข้าใจผิด รวมถึงสแกม และหากตรวจพบโฆษณาที่ละเมิดมาตรฐานจะดำเนินการไม่อนุมัติโฆษณาดังกล่าวในทันที”

ปัจจุบัน ใช้กระบวนการดำเนินงานที่หลากหลายเพื่อตรวจจับและตรวจสอบโฆษณา บัญชี และผู้ดูแลที่อาจละเมิดนโยบาย มีการดำเนินงานเชิงลึกที่มากกว่าการตรวจสอบโฆษณาแต่ละชิ้น มีการตรวจสอบและสำรวจพฤติกรรมของนักโฆษณา และจำกัดการใช้งานของนักโฆษณาที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน

นอกจากนี้ มองหาวิธีการในการขยายกระบวนการดำเนินงานและเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถรายงานโฆษณามาได้

ร่วมมือ ‘รัฐ-เอกชน-สังคม’

พ.ต.อ.เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการ กลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า แต่ละปีมีการแจ้งความคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ประมาณ 2 แสนคดี ที่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 สัดส่วนกว่า 40% คือการหลอกลวงเพื่อขายสินค้า จำนวน 1.3 แสนคดี รองลงมาเป็นการหลอกให้ทำงานออนไลน์ กู้เงิน คอลล์เซ็นเตอร์ รวมถึงการหลอกให้ลงทุน

“ภัยหลอกลวงบนโลกออนไลน์นับเป็นปัญหาสังคมที่ขยายวงกว้างออกไปในทุกพื้นที่ ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อมีปฏิสัมพันธ์หรือทำธุรกรรม เพราะทุกวันนี้อาชญากรไซเบอร์มีการพัฒนากลลวงเพื่อการหลอกล่อที่ซับซ้อนและอำพรางได้แนบเนียนมากขึ้น”

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ข้อมูลว่า โดยเฉลี่ยดีอีได้มีการปิดเพจหลอกหลวงเดือนละกว่า 1 หมื่นเพจ ตัดตอนการสื่อสาร บัญชีม้า ยับยั้งธุรกรรม รวมถึงทำงานเชิงป้องกัน

นอกจากนี้ มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่บังคับกฎหมาย หน่วยงานภาคเอกชน และบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Meta เพื่อช่วยกำจัดมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

อิง ศิริกุลบดี ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำ Facebook ประเทศไทยจาก Meta กล่าวเสริมว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา Meta ได้ร่วมทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคม

สำหรับพรฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 ที่มีข้อกำหนดให้ไปแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล กับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทาง Meta อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อดำเนินการภายใต้กรอบของเวลาตามที่กฎหมายกำหนด