Super App คืออะไร พัฒนาได้รวดเร็วหรือไม่

Super App คืออะไร พัฒนาได้รวดเร็วหรือไม่

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท มักจะมีการนำคำศัพท์เทคโนโลยีต่างๆ มากล่าวถึง ตั้งแต่คำว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เงินดิจิทัล และบล็อกเชน ทำให้ประชาชนจำนวนมากอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และเชื่อว่าแม้แต่คนแวดวงเทคโนโลยีก็อาจสับสนตาม

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท มักจะมีการนำคำศัพท์เทคโนโลยีต่างๆ มากล่าวถึง ตั้งแต่คำว่า ดิจิทัลวอลเล็ต เงินดิจิทัล และบล็อกเชน ทำให้ประชาชนจำนวนมากอาจไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร และเชื่อว่าแม้แต่คนแวดวงเทคโนโลยีก็อาจสับสนตาม เพราะสิ่งที่นักการเมืองพยายามจะสื่อสารออกมาก็ยังไม่มีความชัดเจน และบางครั้งก็เห็นได้ชัดว่านักการเมืองเองก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

ล่าสุด กลายเป็นเรื่องที่จะทำ Super App ซึ่งถ้าดูจากคำศัพท์แล้วก็สวยหรู แต่ผู้คนอาจยังไม่เข้าใจความหมาย สื่อบางสื่อก็ยังสับสนว่า Super App คืออะไร บ้างก็เข้าใจว่าเป็นแอปบนมือถือที่จะมีผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งก็ไม่ถูกต้องตามนิยามนัก เพราะคำว่า Super App ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น และในโลกนี้ก็มีแอปเพียงไม่กี่ตัวที่ประสบความสำเร็จกลายเป็น Super App ได้

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยมีชื่อบทความว่า “การผลักดัน Super App มีมากกว่าการเพิ่มฟีเจอร์ลงแอป” โดยอธิบายว่า Super App หรือที่อาจเรียกว่า Everyday App คือแอปที่ครอบคลุมทุกบริการ ทุกอย่างเอาไว้ด้วยกัน มีฟีเจอร์ทำธุรกรรม มากมาย เช่น การซื้อสินค้า การสั่งอาหาร การสนทนา รวมถึงการชำระเงิน ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการให้ผู้ใช้งานล็อกอินเข้ามาใช้งานเป็นประจำทุกวัน ให้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตประจําวันของผู้คน

Super App ในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จ อย่างมาก คือ WeChat ในจีน ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 1,200 ล้านคน ทั้งนี้ WeChat ได้รวมฟีเจอร์ด้านการสนทนาเข้ากับกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีฟีเจอร์ทำธุรกรรมการชำระเงิน การค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ ในแอปเดียว ทำให้มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ใช้หลายคน จนกลายเป็น Everyday App นอกจากนี้ในจีนยังมี Super App ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของ WeChat นั้นก็คือ Alipay

นอกจาก Super App ในประเทศจีนแล้ว ยังมีแอปอีกหลายๆ ประเทศที่พยายาพัฒนาบริบทตัวเองให้ก้าวสู่การเป็น Super App ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียมี Super App ที่ชื่อ Tata Neu ของบริษัทในกลุ่ม Tata หรือ Paytm ที่เป็นแอปกระเป๋าเงินดิจิทัลของอินเดียที่ได้ขยายให้ผู้ใช้สามารถจองตั๋วรถไฟ หรือซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ของตัวเองอย่าง Paytm Mall ได้

Grab เป็นอีกตัวอย่างของ Super App ที่ใช้ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน แม้ Grab จะเริ่มต้นจากเป็นบริการเรียก รถแท็กซี่ แต่ก็สามารถสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับพันธมิตร ไปต่อยอดในหลายๆ บริการได้ตั้งแต่ บริการสั่งอาหาร บริการสั่งซื้อสินค้า บริการการชำระเงิน และเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล

ในบ้านเราก็มีแอปหลายๆ ตัวที่ พยายามผลักดันให้ตัวเองเป็น Super App ด้วยการพยายามใส่ฟีเจอร์ต่างๆ ลงมาในแอปอย่างมากมาย แต่การที่จะทำให้มีคนมาใช้งานประจำไม่ใช่เรื่องง่าย จึงจำเป็นต้องมีแรงจูงใจ เช่น การให้ส่วนลดราคา ซึ่งแอปหนึ่งที่น่าสนใจและดูเหมือนมีแนวโน้มว่าจะสามารถผลักดันไปสู่ Super App ของคนไทยได้ก็ คือ “แอปเป๋าตัง”

แอปเป๋าตังมีจุดแข็งในการเชื่อมโยงกับพันธมิตรโดยเฉพาะการต่อยอดไปกับนโยบายรัฐบาลในอดีตหลายเรื่อง ตั้งแต่โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จนล่าสุดมีสลากลอตเตอรี่ดิจิทัล จึงทำให้ผู้คนเข้าไปใช้แอปนี้บ่อยๆ ในการทำธุรกรรม เพราะบริการบางอย่างเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนโดยตรง แต่แอปเป๋าตังยังมีฟีเจอร์ไม่มากพอที่จะเรียกได้ว่าเป็น Super App

แต่เข้าใจว่ารัฐบาลใหม่นี้คงมองว่าแอปเป๋าตังไม่ใช่เป็นแอปของรัฐบาลโดยตรง จึงอยากพัฒนา Super App ขึ้นมาเอง ซึ่งถ้าทำขึ้นคาดว่าจะเป็นแอปถาวรมากกว่า โดยใช้เพื่อแจกเงินดิจิทัลช่วงสั้นในระยะ 6 เดือน และต้องสร้างระบบนิเวศน์ให้กลายเป็นแอปที่คนเข้าใช้เป็นประจำทุกวันให้ได้

การพัฒนา Super App ในแง่เทคนิคก็ไม่ได้ง่ายเพราะระบบต้องรองรับผู้ใช้จำนวนมาก ซึ่งจะมีความยากกว่าการพัฒนาแอปทั่วไป และหากถามว่าจะพัฒนาได้เร็วหรือไม่ ก็คงต้องเปรียบเทียบกับการสร้างตึกให้เสร็จภายในไม่กี่เดือน ถ้าเป็นตึก 2-3ชั้น ก็อาจเทียบกับแอปขนาดเล็ก แต่ถ้าจะสร้างตึกสูงลิบฟ้าเป็นร้อยชั้นซึ่งก็คล้ายกับการพัฒนาแอปขนาดใหญ่ หากทำสำเร็จในไม่กี่เดือนก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

นอกจากประเด็นทางด้านเทคนิคแล้ว การทำ Super App จะต้องมีการเพิ่มเติมฟีเจอร์ต่างๆ มากกว่าการชำระเงิน จะต้องสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ผู้คนมาใช้แอปนั้นเป็นประจำ เช่น การสั่งซื้ออาหาร การซื้อสินค้า การจองตั๋ว การจ่ายค่าบริการรถสาธารณะ หรือค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า Super App ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเป็นแอปที่ตรงกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จึงจะทำให้การเกิดขึ้นของ Super App ทำได้ไม่ง่ายนัก

นอกจากนี้ Super App ยังมีข้อที่น่ากังวลจากความเสี่ยงเรื่องที่ให้แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งผูกขาด ในการทำบริการดิจิทัลแทบทุกอย่าง รวมถึงการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไปวิเคราะห์ในแง่ต่างๆ จึงอาจสร้างความกังวลให้กับผู้ใช้ที่จะถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้ Super App

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพัฒนา Super App ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ในด้านเทคนิคก็จะต้องใช้เวลานาน และกว่าจะสร้างระบบนิเวศให้แอปสักตัวหนึ่งกลายเป็น Super App จะต้องใช้เวลาเป็นหลายปี เว้นเสียแต่ว่าเราเข้าใจคำนิยามของ Super App ต่างจากความหมายที่ถูกต้องทางสากล แล้วก็เรียกแอปนั้นว่า Super App