Amity ปักธงปั้นเทคคอมพานีไทยสู่สมรภูมิซอฟต์แวร์โลก

Amity ปักธงปั้นเทคคอมพานีไทยสู่สมรภูมิซอฟต์แวร์โลก

ถอดคมคิด ‘ซีอีโอรุ่นใหม่’ คิดต่างสร้างธุรกิจทางเลือก Amity ปักธงแข่งขันตลาด Regional - Global มองถ้าไม่สามารถเข้าถึงตลาดยุโรป-อเมริกา คือ แพ้ หวังต่อไปเทคคอมพานีสัญชาติไทยได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง อมิตี้ Amity เทคคอมพานีสัญชาติไทยที่ไปโลดแล่นในตลาดต่างประเทศ กล่าวว่า บนสมรภูมิเทคโนโลยีการจะประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้ต้องมีแนวคิดที่มุ่งสู่ระดับภูมิภาคหรือโกลบอล

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ไทยยังเป็นประเทศที่นำเข้าเทคโนโลยี ไม่ใช้ผู้ผลิต คำถามคือ ทำไมเราถึงไม่มีเป็นของตัวเอง สุดท้ายคำตอบเป็นเรื่องของสเกล ซึ่งเป็นธรรมชาติของบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ต้องการตลาดที่มีขนาดใหญ่มากพอ

“การก้าวไปข้างหน้าควรคิดไปถึงระดับภูมิภาคหรือระดับโลกตั้งแต่ในวันแรก เป็นเรื่องของโกลบอลเกมและรีจินอลเกม ไม่เช่นนั้นคงประสบการสำเร็จได้ยาก และผมหวังว่าต่อไปเทคคอมพานีสัญชาติไทยจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น”

เช่นเดียวกับ อมิตี้ ตั้งแต่แรกตั้งเป้าไว้ว่า ต้องการเป็นเทคคอมพานีของประเทศไทยที่ซิลิคอลวัลเลย์ยอมรับ โดยมีแนวคิดว่าหากไม่สามารถเป็นที่หนึ่งในยุโรปหรืออเมริกาก็จะแพ้อยู่ดี กระทั่งปัจจุบันก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ผู้ให้บริการโซเชียลคลาวด์และแอปอินฟราสตรักเจอร์ ซึ่งมีฐานลูกค้าเป็นบริษัทระดับโลกจำนวนมาก

กรวัฒน์บอกว่า หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดต้องคือ ต้องรู้ว่าตัวเรามีจุดแข็งอะไร และอะไรที่ทำให้แตกต่างจากรายอื่นๆ ประเทศไทยอาจยังไม่มีอีโคซิสเต็มที่แข็งแรงเทียบเท่ากับซิลิคอนวัลเลย์ แต่สามารถมองหาจุดแข็ง ข้อได้เปรียบหรือจุดต่างที่มีได้

ด้านบุคลากร นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย จากประสบการณ์วิศวกรคนไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่นๆ และสำหรับอมิตี้มีบุคลากรกว่า 30 สัญชาติในบริษัท การรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้ หลักๆ คือความยืดหยุ่น เพิ่มทางเลือกการทำงานตามสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องการ

ประเมินขณะนี้ แม้จะประสบความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่อาจกล่าวว่าเป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืน จากนี้ยังคงต้องเดินหน้าต่อ พยายามมากขึ้น พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยความฝันมองไปถึงการก้าวไปถึงการเป็นยักษ์เทคโนโลยีระดับโลก และเชื่อว่าโอกาสยังมีอยู่สูงมาก

ในมุมของบริษัทซอฟต์แวร์ ศักยภาพการเติบโตของกำไรนับว่ามีความยั่งยืนและมีทิศทางที่ดี เป็นตัวเลขที่ดีพอที่จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้

ขณะที่โอกาสของบริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติไทย หากเข้าไปแข่งขันในสนามดีปเทคอาจสู้กับทางอเมริกาได้ยาก ทว่าการนำไปปรับใช้จริงตามยูสเคสมีความเป็นไปได้สูง อีกทางหนึ่งตลาดประเทศไทยและอาเซียนเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่งส่วนนี้ทำให้อมิตี้มีความเข้าใจตลาดในหลายมิติ ซึ่งหากไม่ได้อยู่ในอาเซียนหรือไทยอาจคิดไม่ออก