‘ปัญหาเดิม’ ของอุตฯดิจิทัลที่ยัง ‘รอ’ การแก้ไข

‘ปัญหาเดิม’ ของอุตฯดิจิทัลที่ยัง ‘รอ’ การแก้ไข

สัปดาห์นี้ผมไปร่วมงานแถลงข่าว “ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล พร้อมคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี” ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า ซึ่ง สถาบันไอเอ็มซี ได้สำรวจให้กับดีป้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

สัปดาห์นี้ผมไปร่วมงานแถลงข่าว “ผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล พร้อมคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี” ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า (depa) ซึ่ง “สถาบันไอเอ็มซี” ได้ดำเนินการสำรวจให้กับดีป้าอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี

วิธีสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทีมของสถาบันไอเอ็มซีได้มาจากการค้นหาข้อมูลรายได้บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในหมวดธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงนำตัวเลขนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการคำนวณมูลค่าอุตสาหกรรม รวมถึงสำรวจข้อมูลจำนวนการจ้างงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมของบริษัทต่างๆ เพื่อประมาณการจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรม

นอกเหนือจากอุตสาหกรรมทั้งสามที่ทีมไอเอ็มซีได้สำรวจแล้ว ดีป้ายังให้หน่วยงานอื่นสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งหากนำมูลค่าอุตสาหกรรมทั้ง 5 ด้านมารวมกัน จะพบว่า ช่วงปี 2565 อุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย มีมูลค่าสูงถึง 2.61 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงอัตราการเติบโตที่สูง และอาจสวนทางกับหลายๆ อุตสาหกรรมที่ชะลอตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์โควิดและสภาวะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก

ในปีนี้ตัวเลขที่อาจดูแตกต่างจากเดิมคือ มีการนำมูลการผลิตเพื่อส่งออกของอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามารวมกับมูลค่าการนำเข้า ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศทำให้มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.43 ล้านล้านบาท และเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มคือ 55% ส่วนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองคือโทรคมนาคม มีมูลค่า 669,330 ล้านบาท คิดเป็น 26% ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลในบ้านเราส่วนใหญ่มาจากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และโทรคมนาคม

ในขณะที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีสัดส่วน 7% คือมีมูลค่า 190,766 ล้านบาท อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่เกี่ยวข้องบริการและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ทั้งสั่งซื้อสินค้า ดูหนังฟังเพลง และส่งอาหารมีมูลค่า 281,515 ล้านบาท หรือคือเป็น 11% ส่วนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เน้นในการทำซอฟต์พาวเวอร์อย่างเกมส์ การ์ตูน หรือสื่อต่างๆ มีสัดส่วนเพียง 2% คือ 40,518 ล้านบาท

แม้ผลการสำรวจจะสะท้อนว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลในด้านรายได้ของบริษัทต่างๆ ก็มีข้อสังเกตได้ว่า อุตสาหกรรมมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น บริษัทด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่มีจำนวน 13,013 บริษัท พบว่าบริษัทจำนวนถึง 11,319 บริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่าสิบล้านบาท จำนวนหลายพันรายก็แทบไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่ารายได้ของอุตสาหกรรมนี้เกือบ 80% อยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่จำนวน 280 บริษัท

เช่นเดียวกันกับ บริษัทด้านอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ ที่ทีมสำรวจได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่ลงทะเบียนในหมวดนี้ซึ่งมีจำนวน 9,848 บริษัท ก็พบว่าบริษัทส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดธุรกิจขายและบริการคอมพิวเตอร์ที่มีจำนวน 8,447 บริษัท และมีเพียงสองพันกว่าบริษัทที่มีรายได้สูงกว่าสิบล้านบาท นอกจากนี้ยังเห็นว่ามีรายได้ของบริษัทในกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงมากคือ 1.93 ล้านล้านบาท ก็จะตกอยู่กับบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีการผลิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้านคอมพิวเตอร์ และบริษัทจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จำนวน 10 บริษัทที่มีรายได้รวมกันสูงถึง 918,550 ล้านบาท

ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่สำรวจมา 525 บริษัท แม้จะมีรายได้รวมกันที่เป็นมูลค่าอุตสาหกรรมถึงเกือบสามแสนล้านบาท แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็ก และผู้ประกอบในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังประสบภาวะการขาดทุนอยู่

หากพิจารณาจำนวนบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมทั้งสาม พบว่า มีถึง 543,214 คน แบ่งเป็นอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจำนวน 324,760 คน ซอฟต์แวร์ 144,672 คน และบริการดิจิทัล 73,782 คน แต่ตัวเลขบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไอที ดังเช่น ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์จะเป็นพนักงานการขายหรือพนักงานผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ที่น่าสนใจคือ

อุตสาหกรรมนี้แม้จะโตขึ้นมากถึงสองหลักแต่การจ้างงานกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 4% ทั้งนี้เนื่องจากรูปการผลิตเปลี่ยนแปลงไปมีการใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น หรือจำนวนพนักงานขายก็อาจลดลงไปจากเดิม

ในด้านผู้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่าในปี 2565 มีจำนวน 41,038 คนเพิ่มขึ้นเพียง 3% แต่เมื่อดูจำนวนบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีเพียง 19,024 คนลดลงจากปีก่อนหน้านั้น 2% และจากข้อมูลย้อนหลังก็พบว่าร้อยละการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาสาขาต่างๆ ในกลุ่มนี้โดยเฉลี่ยต่ำกว่า 60% ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงพอควร

ในงานแถลงข่าวได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมหลายท่าน ได้แก่ คุณศุภชัย สัจไพบูลย์กิจคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณคณพล วงศ์พิชญวิศาล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยทุกท่านต่างมีมุมมองคล้ายกันว่า อุตสาหกรรมทางด้านนี้โตสองหลักเป็นเรื่องปกติ และสอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก แต่ปัญหาของบ้านเราที่ไม่สามารถจะโตได้สูงไปกว่านี้คือเรายังขาดกำลังคน และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ที่จะมาสร้างการผลิตและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

ปัญหานี้เป็นปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่นานแล้ว การที่จำนวนบุคลากรด้านนี้มีจำนวนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคนเก่งๆ จึงมีการแย่งตัวในบริษัทขนาดใหญ่ และพนักงานก็เปลี่ยนงานบ่อย ทำให้บริษัทไม่โตและไม่สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่อง บริษัทขนาดเล็กก็หาบุคลากรที่มีความสามารถได้ยาก เมื่อขาดบุคลากรก็ต้องปิดตัวไป จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบริษัทจำนวนมากมีขนาดเล็กและหยุดดำเนินกิจการ

โจทย์ของรัฐบาลใหม่จึงยังเป็นการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ โดยเฉพาะคนที่ต้องมารองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง เอไอ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า และอุปกรณ์อัจฉริยะ ถ้าอยากเห็นอุตสาหกรรมดิจิทัลบ้านเราโตยิ่งขึ้น และลดการพึ่งพานำเข้าเทคโนโลยี และบริการจากต่างประเทศ ประเทศไทยต้องเร่งทำการปรับทักษะคนทำงานให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเอไอให้ได้ เราจึงจะสามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลกได้