กสทช.เดินหน้าโมเดลวิทยุชุมชน รับปี 67 หมดเขตทดลองออกอากาศ

กสทช.เดินหน้าโมเดลวิทยุชุมชน รับปี 67 หมดเขตทดลองออกอากาศ

ชี้หากวิทยุชุมชนต้องการอยู่บนคลื่นแบบเดิมจะมีวิทยุชุมชนตกขบวนกว่า 1,000 สถานี หวังนโยบายรัฐบาลใหม่สนับสนุน เร่งเดินหน้าโฟกัสกรุ๊ป 4 ภาค เตรียมออกประกาศแผนเปลี่ยนผ่านก่อนสิ้นอายุทดลองออกอากาศปลายปีหน้า

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. กล่าวว่า ในเดือนธ.ค.2567 วิทยุทดลองออกอากาศ หรือ วิทยุชุมชน จะสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ทดลองออกอากาศ 5 ปี นับตั้งแต่บอร์ดกสทช.ชุดที่แล้วอนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไป

ดังนั้น กสทช.จึงต้องวางแผนในการเปลี่ยนผ่านวิทยุชุมชนไปสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากกว่าการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานของกิจการดาวเทียมไปสู่ระบบใบอนุญาต เนื่องจากปัจจุบันวิทยุชุมชนมีผู้ให้บริการอยู่ 3,909 สถานี แต่หากต้องจัดสรรคลื่นเป็นระบบใบอนุญาต ตามกฎหมายแล้ว กสทช.ต้องจัดสรรโดยไม่มีการรบกวนคลื่นของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จึงทำให้คลื่นกระจายเสียงไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่

สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่เอฟเอ็ม พบว่า หากวิทยุชุมชนยังต้องการทำธุรกิจต่อไปบนคลื่นวิทยุแบบเดิม กสทช.จะสามารถจัดสรรคลื่นในระบบใบอนุญาตได้เพียง 2 รูปแบบ คือ จัดสรรโดยปราศจากคลื่นรบกวนซึ่งกันละกัน จำนวน 700 สถานี และ การจัดสรรแบบคลื่นรบกวนกันเอง ออกใบอนุญาตได้จำนวน 2,800 สถานี

“ที่ผ่านมา กสทช.สามารถเปลี่ยนผ่านกิจการวิทยุไปสู่ระบบใบอนุญาตได้เฉพาะวิทยุกระจายเสียงของรัฐ ที่เคยได้รับการอนุญาตตั้งแต่สมัยกรมไปรษณีย์ 313 สถานี โดยกสทช.ออกเป็นใบอนุญาตสาธารณะ 238 สถานี ส่วนคลื่นของ อสมท ก็ได้เรียกคืนแล้วเปิดประมูลสู่ระบบใบอนุญาตไปแล้ว 68 สถานี ”

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ กล่าวว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการ พบว่าผู้ประกอบการเลือกทางเลือกที่ 2 คือ การจัดสรรแบบคลื่นรบกวนกันเอง จำนวน 2,800 สถานี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เหลืออีกจำนวน กว่า 1,000 สถานี ไม่สามารถเข้าสู่ระบบใบอนุญาตได้ นั่นเท่ากับว่าจะกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนหรือกลุ่มคนขนาดเล็กมารวมตัวกันทำธุรกิจวิทยุกระจายเสียง
 

ดังนั้น กสทช.จึงจะเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านสู่วิทยุดิจิทัลด้วยเพื่อให้มีคลื่นเพียงพอในการประกอบธุรกิจสำหรับวิทยุชุมชน 3,909 สถานี ด้วยการสร้างโครงข่ายวิทยุดิจิทัลขึ้นมาใหม่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าต้องใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับการขยายโครงข่ายเป็นเวลา 3 ปี ให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ 50-60% ของประเทศ ขณะที่ต้องเครื่องรับวิทยุดิจิทัลด้วยซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณกล่องละ 1,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากรัฐไม่มีงบประมาณสนับสนุน กสทช.ก็อาจมีทางเลือกในการเปิดประมูลให้ผู้ประกอบการโครงข่ายเข้ามารับใบอนุญาตในการให้บริการ  

สำหรับแผนดังกล่าว กสทช.มีกำหนดการเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม หรือ โฟกัสกรุ๊ป 4 ภาค ในเดือน ต.ค.2566 เพื่อเดินหน้าออกประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตภายในกลางปี 2567 ก่อนที่การอนุญาตทดลองออกอากาศของวิทยุชุมชนจะสิ้นสุดลงในเดือนธ.ค. 2567