'กระเป๋าเงินดิจิทัล' โดยใช้ 'บล็อกเชน' ทำได้จริงหรือไม่?

'กระเป๋าเงินดิจิทัล' โดยใช้ 'บล็อกเชน' ทำได้จริงหรือไม่?

นับตั้งแต่มีการหาเสียงเรื่องแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผมเขียนบทความลงในคอลัมน์นี้ไปแล้วสองครั้ง ครั้งแรกกลางเดือนเม.ย.ที่นักการเมืองใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” และ “เงินดิจิทัล” มาช่วยหาเสียง ผมพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้

นับตั้งแต่มีการหาเสียงเรื่องแจก เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผมได้เขียนบทความในเชิงวิชาการลงในคอลัมน์นี้ไปแล้วสองครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่กลางเดือนเมษายน พูดถึงการที่นักการเมืองใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” และ “เงินดิจิทัล” มาช่วยในการเสียง ซึ่งผมก็พยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ เพราะเทคโนโลยีทั่วไปมีความพร้อมอยู่แล้ว และอาจทำได้ดีกว่าด้วย เนื่องจากระบบปกติสามารถออกแบบให้รองรับธุรกรรมจำนวนมากได้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสี่ยงกับการพัฒนาที่อาจไม่สำเร็จ รวมทั้งผมเสนอให้ใช้แอป "เป๋าตัง” ที่มีอยู่แล้วและใส่เงินสดเข้าไป

หลังเลือกตั้งช่วงแรกๆ นโยบายนี้เงียบหายไป เพราะคิดว่าพรรคเพื่อไทย คงไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จนโยบายนี้ก็กลับมาอีกครั้ง และรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะต้องใช้บล็อกเชน ผมจึงได้เขียนบทความเป็นครั้งที่สอง เพื่อชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “กระเป๋าเงินดิจิทัล กับ เงินดิจิทัล” และย้ำอีกครั้งว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาอาจต้องใช้เวลา เพราะหลายประเทศยังอยู่ในช่วงทดลองใช้ และยังมีอุปสรรคบางอย่างหากต้องรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก

ก่อนที่ผมจะเขียนต้นฉบับบทความนี้ก็ได้ข่าวว่า รัฐบาลจะใช้แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านแอป “เป๋าตัง” โดยไม่ใช้บล็อกเชน แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงจึงทราบว่าจริงๆ แล้วเป็นเพียงข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เพราะทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่านโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะใช้บล็อกเชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ”

เมื่อนักการเมืองย้ำหลายๆ ครั้งจึงเข้าว่าจะนำบล็อกเชนมาใช้ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะทำได้สำเร็จจริงหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นคนที่ติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเคยพัฒนาบล็อกเชนเมื่อ 5-6 ปี มาก่อนก็ตาม ยิ่งเมื่อได้คุยกับเพื่อนวงการไอที ได้อ่านข้อความต่างๆ ที่หลายคนที่พัฒนาบล็อกเชน หรือระบบชำระเงินดิจิทัล ได้เขียนลงในสื่อโซเชียลมีเดียก็พบว่า นักเทคโนโลยีส่วนใหญ่คิดคล้ายกันกับผมว่าน่าจะเป็นไปได้ยาก และโครงการนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้บล็อกเชน

 

ในด้านเทคนิคมีหน่วยอยู่หนึ่งตัวที่เรียกย่อว่า TPS (Transaction Per Section) หมายถึง “จำนวนธุรกรรมที่ทำได้ภายในหนึ่งวินาที” ค่านี้เป็นตัวบ่งบอกความสามารถชำระเงินออนไลน์พร้อมกันของระบบต่างๆ เช่น บัตรเครดิตจะสามารถทำธุรกรรมได้สูงถึง 24,000 TPS ส่วนเทคโนโลยีบล็อกเชนตัวแรกอย่าง Bitcoin จะมีความเร็วเพียง 7 TPS

แม้ภายหลังจะมีการพัฒนาบล็อกเชนตัวใหม่ให้ทำธุรกรรมรวดเร็วขึ้น เช่น Solana ที่ 3,000 TPS และระบุว่าตามทฤษฎีจะขยายได้ไปถึง710,000 TPS หรือล่าสุดมี ParallelChain ที่กำลังพัฒนาในห้องปฏิบัติการฮ่องกงแล้ว ระบุว่าทำความเร็วได้สูงถึง 100,000 TPS แต่บล็อกเชนที่มีความเร็วสูงๆ เหล่านั้น ยังไม่ถูกนำมาใช้งานจริง ซึ่งก็จะไม่ได้ใช้หลักการของบล็อกเชนเต็มประสิทธิภาพ เช่น ตรวจสอบธุรกรรม และสร้างความโปร่งใส และที่สำคัญอาจมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย ยิ่งกว่านั้นถ้าความเร็วธุรกรรมสูงๆ ขนาดของบล็อกอาจใหญ่มากเกินกว่าจะเก็บได้ และที่สำคัญยิ่งถ้าต้องการระบบที่มีความเร็วสูงค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่อครั้งก็อาจสูงตาม

หลักการบล็อกเชน คือ ต้องการกระจายอำนาจการควบคุมจากหน่วยงานกลาง และต้องตรวจสอบติดตามธุรกรรมได้เพื่อความโปร่งใส จึงต้องใช้เวลาพอสมควรเพื่อตรวจสอบธุรกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งก็จะขัดแย้งกับการทำธุรกรรมการชำระเงินที่ต้องการความรวดเร็วทำแบบทันทีทันใด จึงไม่แปลกใจระบบกระเป๋าเงินดิจิทัลทั่วโลก ไม่มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนไม่ว่าจะเป็นระบบ ApplePay หรือ AliPay หรือแม้แต่เงินดิจิทัลที่ต้องการความเร็วสูงอย่างเงินหยวนดิจิทัล ก็ยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหลัก

ถ้าเราจะต้องแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลให้ประชาชน 60 ล้านคน และต้องเร่งให้ประชาชนมาใช้เงินภายในหกเดือน เชื่อครับช่วงแรกๆ ก็มีคนจะต้องรีบมาใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้จำนวนธุรกรรมต่อวินาทีจะเกิดขึ้นหลายพันและอาจถึงหลักหมื่น ซึ่งจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และยิ่งต้องมาพัฒนาให้แล้วเสร็จก่อนเมษายน น่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ยกเว้นจะมีการแอบซุ่มเงียบพัฒนาระบบไว้ก่อนและอาจนำนวัตกรรมบล็อกเชนตัวล่าสุดที่เตรียมไว้แล้วเปิดออกมา

หากมองในด้านเทคนิค นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะพัฒนากระเป๋าเงินดิจิทัลโดยใช้บล็อกเชน มีความท้าทายอย่างมาก ถ้าทำได้สำเร็จจริง ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จอย่างมาก กลายเป็นผู้นำนวัตกรรมทางด้านนี้ และอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสำหรับประชาชนจำนวนมาก และคงเป็นการก้าวกระโดดทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของบ้านเรา คงต้องรอดูกันต่อว่า สุดท้ายแล้วเราจะทำได้สำเร็จจริงหรือไม่?