LINE ชิงตลาดดิจิทัลเพย์เม้นท์ ฮุบ 'แรบบิทไลน์เพย์' เสริมทัพ

LINE ชิงตลาดดิจิทัลเพย์เม้นท์  ฮุบ 'แรบบิทไลน์เพย์' เสริมทัพ

“ไลน์ - ไลน์แมนวงใน” ประกาศลงสมรภูมิ “ดิจิทัล เพย์เม้นท์” หลังปิดดีลเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ “แรบบิทไลน์เพย์” จากผู้ถือหุ้นเดิม เปิดความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างการหารือซีเนอร์ยีธุรกิจในเครือ วางเป้าขึ้นเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักตลาดอีเพย์เม้นท์ประเทศไทย

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) กล่าวถึง การเข้าซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay (RLP) จากผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ บริษัท แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัดว่า ครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น

โดยไลน์แมนวงในได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ที่บริษัทเข้าซื้อกิจการ เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับธุรกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ เข้าซื้อกิจการฟู้ดสตอรี่ (FoodStory) สตาร์ทอัปสัญชาติไทยผู้พัฒนาระบบ POS สำหรับร้านอาหาร

บริษัทเชื่อว่า ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนให้อีโคซิสเต็มของทั้งไลน์และไลน์แมนวงใน สามารถเชื่อมต่อกันได้ใกล้ชิดมากขึ้น ที่ชัดเจนคือการเติมเต็มเพย์เม้นท์อีโคซิสเต็ม ทำให้โซลูชันที่ให้บริการสมบูรณ์และครบถ้วนมากขึ้นกว่าเดิม

“เราจะพยายามดึงโวลลุ่มและต่อยอดไปสู่บริการอื่นๆ จากเดิมที่มีการเชื่อมต่ออยู่แล้วจะทำให้มีการใช้งานมากขึ้น โดยที่เป็นไปได้และน่าจะได้เห็นจากนี้คือ การจัดทำแคมเปญการตลาดเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้งาน”

‘จิ๊กซอว์’ สร้างจุดต่างธุรกิจ

ซีอีโอไลน์แมนวงในเผยว่า การซื้อกิจการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเชื่อมบริการของ RLP เข้ากับระบบนิเวศของไลน์มากขึ้น ได้แก่ LINE MAN, LINE SHOPPING, แอป LINE

รวมถึงเครือข่ายร้านค้าบนแพลตฟอร์มวงในให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างไร้รอยต่อ โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่จะช่วยเพิ่มนวัตกรรมของ RLP และสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นในการใช้บริการบนแพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai และระบบนิเวศของไลน์

“เราต้องการใช้จุดแข็งจากการเชื่อมต่อผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคนบนแพลตฟอร์มไลน์แมนและวงในรวมถึงร้านค้าอีกกว่า 5 แสนร้านและไรเดอร์อีกมากกว่า 1 แสนคน เพื่อสร้างประสบการณ์ธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันได้อย่างราบรื่น เชื่อว่าแรบบิทไลน์เพย์จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้ไลน์แมนวงในอยู่ในสถานะที่โดดเด่นในการผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล”

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้งานจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ และสามารถใช้จ่ายผ่านบริการของแรบบิทไลน์เพย์ได้ทุกช่องทางเช่นเดิม รวมทั้งการเชื่อมต่อกับระบบตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอสและการชำระค่าบริการเอไอเอส

ส่วนการบริหารงาน เบื้องต้นยังไม่มีการปรับโครงการใหม่ในขณะนี้ และให้นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายชอง อิน ยัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของไลน์แมนวงในเข้ามาดำรงตำแหน่งเดียวกันในแรบบิทไลน์เพย์

ก้าวใหม่วงการ ‘อีเพย์เม้นท์’

ด้านของเป้าหมาย ที่วางไว้มีทั้งส่วนของการพัฒนาและเข้าไปเติมเต็มอีโคซิสเต็มส์ของกันและกัน พร้อมผลักดันให้แรบบิทไลน์เพย์เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ด้วยตนเอง แม้ว่าปีที่ผ่านมายังไม่ทำกำไร แต่มีเป้าหมายที่จะพลิกกลับมาให้ได้ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดอีเพย์เม้นท์ประเทศไทย

เขากล่าวว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดการซื้อกิจการในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการใช้งานอีเพย์เม้นท์และอีวอลเล็ตในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นมีโอกาสที่แรบบิทไล์เพย์จะเติบโตได้ต่อ ประเมินขณะนี้ตลาดยังเป็นช่วงขาขึ้นและมีขนาดใหญ่มากขึ้นตามลำดับ

“ผมเชื่อว่าการรวมกันในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอีโคซิสเต็มส์ คาดว่าจะมีโปรโมชั่นที่ดีขึ้นและทำให้ทุกฝ่ายเติบโตไปด้วยกัน เราต้องการที่จะแข่งขันได้ทั้งด้านต้นทุน ผลัตภัณฑ์ และการให้บริการ”

หลังจากนี้ ทางบริษัทจะเร่งหารือเพื่อทำงานร่วมกัน รวมถึงออกไปคุยกับพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ โดยเปิดกว้างกับทุกรายทั้งบริการแบบออนไลน์และออฟไลน์

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรัฐ  1 หมื่นบาท ยังคงรอความชัดเจนและติดตามข่าวอยู่ หากรัฐบาลต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือพร้อมให้ความร่วมมือและเชื่อว่าสามารถช่วยได้ทั้งเชิงเพย์เม้นท์ และอินฟราสตรักเจอร์

เปิดทาง ‘ซีเนอร์ยี’ ธุรกิจในเครือ

นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ดีลครั้งนี้นับเป็นการเชื่อมต่อจิ๊กซอว์ให้สมบูรณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันทำให้ทุกทรานเซกชั่นและการทำงานร่วมกันไร้รอยต่อ นับเป็นการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ครั้งสำคัญที่จะสามารถต่อยอดไปได้อย่างต่อเนื่อง

“เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เกิดการซีเนอร์ยีภายในเครือ สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้น รวมถึงเกิดบริการใหม่ๆ แบบวันสต็อปช้อป อีกทางหนึ่งทำให้ทั้งสองบริษัทมีจุดแข็งในการผสานการชำระเงินแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน เป็นกลยุทธ์ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แอปไลน์”

โดยเชื่อมต่อเข้ากับไลน์แมนแพลตฟอร์มออนดีมานด์ และ LINE SHOPPING ผู้ให้บริการแชตคอมเมิร์ซ ซึ่งเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังสามารถนำจุดเด่นของแอปอย่างการแชท, LINE POINTS, LINE STICKERS มายกระดับประสบการณ์ให้กับผู้ใช้ เชื่อมั่นว่าผู้บริหารและทีมงานจะผลักดันการเติบโตให้กับแรบบิทไลน์เพย์ขึ้นไปอีกระดับได้

เติมจุดแข็ง ‘ยูนิคอร์น’ ไทย

นายชอง อิน ยัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ไลน์แมนวงใน กล่าวเสริมว่า ครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อเชื่อมต่อฐานผู้ใช้งานและแพลตฟอร์มร้านค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยเข้าด้วยกันผ่านบริการชำระเงิน

ดีลครั้งนี้ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ระหว่าง ไลน์ กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และ ไลน์แมนวงในหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์นของไทย

“การเข้าซื้อกิจการต่อเนื่องของไลน์แมนแมนวงใน ตั้งแต่ธุรกิจพีโอเอส (POS) ก่อนหน้านี้ และ แรบบิทไลน์เพย์ในครั้งนี้ ทำให้พวกเรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่คนไทยภาคภูมิใจได้สำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก ครีเดน ดาต้า พบว่า บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ จำกัด มีรายได้รวม ปี 2565 อยู่ที่ 319,632,099 บาท ขาดทุน 156,655,773 บาท ขณะที่ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด รายได้รวม ปี 2565 อยู่ที่ 6,087,554,342 บาท กำไร 71,914,764 บาท